กรุงเทพฯ 8 ต.ค. – ก.เกษตรฯ ร่วมกับ ธ.ก.ส.กำหนดแผนปฏิบัติการปรับโครงสร้างหนี้แก่เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 36,000 ราย โดยพักเงินต้นให้ครึ่งหนึ่ง ระยะเวลาผ่อนชำระ 15 ปี พร้อมกันนี้จะส่งสริมอาชีพเพื่อฟื้นฟูรายได้ เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถชำระหนี้ตามข้อตกลง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้หารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามที่เสนอ ทั้งนี้ธ.ก.ส.จะให้สาขาทั่วประเทศแจ้งเกษตรกรที่เป็นสมาชิก กฟก.เป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก่อนวันที่ 31ธันวาคม 2560 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ คือ เป็นหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท เป็นหนี้จากการทำเกษตรกรรม และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 36,605 รายมาแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ธ.ก.ส. จะแบ่งเงินต้นที่ค้างชำระเป็น 2 ส่วน พักเงินต้นร้อยละ 50 แล้วนำเงินต้นร้อยละ 50 แรก มาทำสัญญาใหม่ให้เกษตรกรมาผ่อนชำระภายใน 15 ปี โดย ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ และกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบกลั่นกรองคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ ระหว่างการผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่นั้น กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับ ธ.ก.ส. กฟก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนพัฒนาอาชีพส่งเสริมการผลิตทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ตามความถนัดของเกษตรกร โดยประสานภาคเอกชนมาสัญญารับซื้อผลผลิตหรือหาตลาดรองรับผลผลิตเพื่อให้เกษตรกรมีผลตอบแทนที่สามารถนำมาชำระหนี้ตามสัญญาใหม่และมีเงินเหลือเพื่อการดำรงชีพอย่างมั่นคง
สำหรับหนี้เงินต้นอีกครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยนั้น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ หารือร่วมกับ ธ.ก.ส.ออกระเบียบการดำเนินการให้เป็นธรรมกับเกษตรกรมากที่สุด ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งจะได้มีการตกลงระหว่างลูกหนี้กับ ธ.ก.ส.เจ้าหนี้เป็นราย ๆ ไป เช่น หากเกษตรกรเสียชีวิตโดยไม่มีทายาทมารับสภาพหนี้หรือลูกหนี้เป็นผู้ป่วยทุพพลภาพหรือสูงอายุ จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้และไม่มีรายได้ ธ.ก.ส.ก็อาจพิจารณาจำหน่ายหนี้รายดังกล่าวออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาตามระเบียบของ ธ.ก.ส.ต่อไป สำหรับดอกเบี้ยเดิมส่วนที่ค้างไว้นั้น ธ.ก.ส.อาจจะพิจารณายกให้เกษตรกรลูกหนี้ด้วย สำหรับเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารรัฐอื่น ๆ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวมทั้งสหกรณ์การเกษตร ซึ่งกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เกินกว่า 2.5 ล้านบาท และที่เป็นหนี้เกษตรกรอ้างว่าเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลในส่วนนี้ด้วย
“ขอให้เกษตรกรสมาชิก กฟก.ที่ต้องการเสนอแนวทางแก้ไขหนี้ดังกล่าวทำหนังสือระบุรายละเอียดข้อเสนอต่าง ๆ ส่งผ่านสำนักงาน กฟก.จังหวัดมายังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องระดมสมาชิกทั้งหมดเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะจะเป็นการเสียทั้งเวลาประกอบอาชีพ ตลอดจนการทำมาหากิน และค่าใช้จ่ายของเกษตรกร” นายกฤษฎา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก.ป็นปัญหายืดเยื้อมานานนับ 10 ปี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอผ่อนปรนและหามาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกับธนาคารเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตลอด นายกฤษฎายืนยันว่าจะร่วมมือกับทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรแต่ละกลุ่มให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลให้เรียบร้อยและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องรักษาระบบการเงินของประเทศไม่ให้ได้รับความเสียหายหรือมีผลเสียกระทบต่อการบริหารงานของสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย