กรุงเทพฯ 4 ต.ค.- ธปท.เล็งออกคลอดมาตรการคุ้มเข้มปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ปีหน้า เน้นคุ้มเข้มสัญญาที่ 2 ขึ้นไป หรือที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป การให้กู้ต้องนับรวมสินเชื่อ ท็อป-อัพทุกประเภทด้วย โดยจะปล่อยกู้ได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 80 พร้อมกำหนดต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อยร้อยละ 20
สืบเนื่องจากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมา ของสถาบันการเงินมีแข่งขันสูง จนทำให้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินลดลง ในช่วงบ่ายวันนี้ (4 ต.ค.) นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พร้อมด้วย นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการ กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. เปิดแถลงแนวนโยบายการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยการแถลงครั้งนี้ ธปท.ระบุว่า จะออกมาตรการดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มข้นมากขึ้น มีกำหนดเริ่มกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค.62 ซึ่งธปท. เน้นดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย สัญญาที่ 2 ขึ้นไป หรือที่อยู่อาศัยที่มี ราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ยังรวมถึงสินเชื่อเก่าที่รีไฟแนนซ์ด้วย ก็จะต้องอยู่ในเกณฑ์ใหม่นี้เช่นกัน
สำหรับแนวทางดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ที่ธปท.เสนอ กำหนดให้ผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อยร้อยละ 20 ของมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ขอสินเชื่อ จากที่ปัจจุบัน กำหนดไว้ว่า ควรวางเงินดาวน์อย่างน้อยร้อยละ 20 สำหรับราคาที่อยู่อาศัย 10 ล้านบาทขึ้นไป ขณะที่ผู้ที่ขอสินเชื่อสัญญาที่ 2 ขึ้นไป สำหรับการกู้ตั้งแต่หลังที่ 1 ควรวางดาวน์อย่างน้อยร้อยละ 5-10
นอกจากนี้ ข้อกำหนดใหม่ ยังให้การปล่อยสินเชื่อ ต้องนับรวมสินเชื่อ ท็อป-อัพทุกประเภทด้วย ที่ใช้หลักประกันเดียวกันในการคำนวณด้วย โดยนับตั้งแต่เงินกู้เพื่อซื้อบ้าน บวกกับสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจ่ายเบี้ยประกันชีวิต สินเชื่อเพื่อการปรับปรุง/ต่อเติม/ซ่อมแซม เป็นต้น ขณะที่ปัจจุบันนับเฉพาะเงินกู้เพื่อซื้อบ้านเท่านั้น
สำหรับข้อเสนอแนวนโยบายในการดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ธปท. เริ่มเผยแพร่ ตั้งแต่วันนี้ (4 ต.ค.)เป็นต้นไปพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทาง เว็บไซด์ของธปท. และจะปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่ง ธปท. มีกำหนดที่จะจัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ในสัปดาห์หน้าวันที่ 11 ต.ค.นี้ จากนั้นในเดือนพ.ย.61 จะออกประกาศ กำหนดใช้เกณฑ์ดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งมีกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปี 62 เป็นต้นไป
นางวจีทิพย์ กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้พูดถึงความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์จนเกิดเป็นฟองสบู่ แต่กำลังพูดถึงการให้สินเชื่อเกินกว่าความต้องการบ้าน ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้ผู้กู้ มีหนี้มากเกินความจำเป็น สุดท้ายจะมีผลกระทบต่อราคาบ้าน ทำให้ราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบผู้ที่อยากจะมีบ้านหลังแรก ต้องไปซื้อบ้านในราคาที่แพงจนเกินไป ซึ่งมีผลกระทบต่อหลายๆ ส่วน ดังนั้นสิ่งที่ธปท.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ กำลังสร้างมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวัง ที่ปลอดภัยสำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้และผู้กู้ด้วย โดยกำหนดบังคับใช้ในปีหน้าเป็นต้นไป เฉพาะการปล่อยสินเชื่อใหม่ รวมถึงการขอรีไฟแนนซ์ โดยถ้าการขอสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 หรือบ้านที่มีราคาเกิน 10 ล้านบาท สถาบันการเงินจะให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 80 แต่ถ้าหากเป็นบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้าน ธปท.ไม่ได้มีการออกเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมแต่อย่างใด ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนคือ การมีวินัยในการก่อหนี้มากขึ้น และจะมีประโยชน์ต่อคนที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรกด้วย ซึ่งธปท.ขอความร่วมมือสถาบันการเงินในการให้สินเชื่ออย่างระมัดระวังด้วย
นางวจีทิพย์ กล่าวว่า สถานการภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันที่ระดับราคาปรับเพิ่มขึ้น ธปท.เห็นว่า การปรับขึ้นไม่รุนแรงเพียงแต่ธปท.พิจารณาเรื่องวินัยในการก่อหนี้ เพื่อป้องกันดีมานด์เทียม เพื่อป้องกันประชาชนไปก่อหนี้โดยที่ยังไม่ได้ประเมินว่า ซื้อบ้านแล้วในอนาคตบ้านราคาตกลงจะมีผลกระทบต่อตัวเองอย่างไร แต่ถ้าหากเป็นการลงทุนปล่อยเช่า หรือขายต่อ ก็จะมีผลกระทบเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้
สำหรับระดับเอ็นพีแอลหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปัจจุบันนั้น ยังไม่อยู่ในระดับสูงจนธปท.กังวล แต่มีคุณภาพเสื่อมลงบ้าง มาตรการที่ธปท.ทำคือ มาตรการเชิงป้องกัน ซึ่งธปท.มองว่า มาตรการดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ที่จะเริ่มต้นใช้ในปีหน้านั้น ในช่วงเริ่มต้นของการใช้มาตรการ อาจจะมีการปรับตัวบ้าง แต่ธปท.ไม่ได้ใช้มาตรการนี้กับสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงเชื่อว่าจะมีการปรับตัวได้ และทราบว่าทางภาคอสังหาริมทรัพย์รอดูมาตรการอยู่ เตรียมปรับตัวอยู่แล้ว ส่วนผู้ตัดสินใจที่จะซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือบ้านหลังแรกที่มีราคาสูง บางส่วนมีเงินออมอยู่แล้ว บางส่วนก็จะต้องใช้เวลาในการสะสมเงินออมระดับหนึ่ง
“สิ่งที่ธปท.ทำเรียกว่า ไม่ถึงกับเบรค เป็นการชะลอความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ลดลง และเชื่อว่า ความเสี่ยงที่ทำท่าจะก่อตัวจะลดลงไป”นางวจีทิพย์ กล่าว
นายสักกะภพ กล่าวว่า มาตรการคุ้มเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ที่จะเริ่มใช้ในปีหน้าของธปท. เป็นมาตรการเชิงป้องกันมากกว่าเชิงแก้ไข สำหรับการขอสินเชื่อใหม่ที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมา มีจำนวน 100,000 บัญชี วงเงินรวมประมาณ 300,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 15,000 บัญชี หรือคิดเป็น ร้อยละ 15 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด เป็นสัญญาที่ 2 และเป็นสัญญาเงินกู้ที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยในจำนวนนี้ มีการปล่อยสินเชื่อเกินกว่าร้อยละ 80 หรือเกิน threshold ที่กำหนดของมูลค่าบ้านที่เป็นหลักประกัน มีจำนวนรวม ประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คงค้างสะสมมียอดรวม 3 ล้านล้านบาท
มาตรการที่เสนอ ธปท. จะช่วยลดดีมานด์เทียม และลดโอกาสการเก็งกาไรที่จะทาให้ราคาเร่งขึ้นมากเกินปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้ ประชาชนที่ซื้อเพื่ออยู่จริง (real demand) สามารถซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น เพราะ อุปสงค์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนและเก็งกาไรจะลดลง ขณะที่ประชาชนที่ซื้อเพื่อลงทุน รับความเสี่ยงได้ดีขึ้น ไม่ประเมินความเสี่ยงต่าเกินควร และลดโอกาสที่จะถูกผลกระทบจาก การปรับลดลงของราคาอสังหาริมทรัพย์
ด้าน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สามารถวางแผนลงทุนได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงจากโอกาสเกิดฟองสบู่ ขณะที่สถาบันการเงิน คุณภาพสินเชื่อจะดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระกันสารองในอนาคต และ มีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน และเศรษฐกิจไทย จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน-สำนักข่าวไทย