รัฐสภา 4 ต.ค.-สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบทั่วประเทศ และให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียมกัน
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นพิเศษ ในเวลา 09.00 น. วันนี้ (4 ต.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุม สนช. เป็นพิเศษ เมื่อที่ 28 กันยายน 2561 หลังพิจารณาวาระ 2 และให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รับไปแก้ปรับปรุงให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนลงมติในวาระ 3 โดยร่างกฎหมายนี้มีทั้งสิ้น 100 มาตรา ใช้เวลาพิจารณาศึกษานานถึง 576 วัน มีการประชุมกรรมาธิการฯ 142 ครั้ง และเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว ได้แก้ไขเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ โครงสร้างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่แก้ไขให้มีศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจในภาวะที่เกิดปัญหาวิกฤติน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมถึงกำหนดให้มีการจัดทำ “ผังน้ำ” เพื่อแสดงระบบทางน้ำทั้งประเทศแก้ปัญหาการก่อสร้าง หรือที่ดินที่ขวางทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมให้แบ่งประเภทน้ำเป็น 3 ประเภท คือ น้ำสาธารณะที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ น้ำในทางน้ำชลประทาน และน้ำบาดาล ซึ่งในแต่ละประเภทมีข้อแตกต่างกันเชิงเทคนิคและการใช้น้ำ โดยการกำหนดเป็นกฎกระทรวง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ
ขณะที่สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับการปรับแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพียงแต่อยากให้เกิดความชัดเจนเรื่องเงื่อนไขเวลาที่จะต้องมีคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ตามร่างกฎหมายที่จะมีการประกาศใช้ว่า จะสามารถดำเนินการได้เมื่อใด แต่บางส่วนก็เป็นห่วงว่าการปรับแก้อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และอาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ด้วยคะแนน 191 คะแนน ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย