กรุงเทพฯ 3 ต.ค. – รัฐบาลยืนยันให้ความสำคัญอุตสาหกรรมสีเขียว เร่งทำแผนแม่บทเศรษฐกิจหมุนเวียน และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ The United Nations Industrial Develop-ments Organization- UNIDO เปิดประชุมการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry Conference (GLC) ครั้งที่ 5 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งสหประชาชาติ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดประชุม ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDG ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าอย่างมาก และยังมีการนำไปปรับผ่านนโยบายด้านต่าง ๆ รวมถึงตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่เป็นโรดแมพในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ โดยมุ่งการเติบโตสีเขียว รักษาฟื้นฟูและเพิ่มทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคขนส่งร้อยละ 7 ภายในปี 2563 ขณะเดียวกันยังมีการเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 40
ด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่พัฒนามาแล้ว 30 ปีที่ผ่านมา จะมุ่งการพัฒนาสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และยังพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร ดิจิทัล ออโตเมชั่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐและเอกชนลักษณะ PPP โดยโครงการจะต้องผ่านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม หากไม่ผ่านก็ไม่สามารถทำโครงการได้ และยังส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย
กระทรวงอุตสาหกรรมยังริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว แบ่งเป็น 5 ระดับ ระดับที่ 1 Green Commitment (ความมุ่งมั่นสีเขียว) ระดับที่ 2 Green Activity (ปฏิบัติการสีเขียว) ระดับที่ 3 Green System (ระบบสีเขียว) ระดับที่ 4 Green Culture (วัฒนธรรมสีเขียว) และระดับที่ 5 Green Network (เครือข่ายสีเขียว) เป็นระดับเข้มข้นสูงสุด ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานเข้าร่วมโครงการ 34,000 โรงงาน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของโรงงานทั้งหมดในประเทศไทย ด้านเหมืองแร่ยังมีนโยบายเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Policy) นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขับเคลื่อนการเกิดขึ้นของ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” หรือ Eco Industrial Town ที่ขณะนี้ได้รับการรับรอง 20 แห่ง พร้อมกันนี้ยังริเริ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จะจัดทำแผนแม่บทคาดเสร็จเดือนตุลาคมนี้ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
กระทรวงอุตสาหกรรมยังจับมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดทำ innovation space เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจ Startup ซึ่งจะเปิดตัวต้นปีหน้า โดยมีส่วนร่วมของชุมชนระหว่างประเทศ และประชาคมอาเซียน รวมถึงกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง หรือ ACMECS
นายลี ยง ผู้อำนวยการ ยูนิโด้ กล่าวว่า ร่วมมือกับไทยมาถึง 50 ปี ต้องการสนับสนุนประเทศไทยที่มีเป้าหมายใหญ่หลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง โดยสนับสนุนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืน ซึ่งทำงานร่วมกับไทยในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานด้วย นอกจากนี้ จะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งยูนิโด้มีประสบการณ์มีองค์ความรู้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จะตั้งทีมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน .-สำนักข่าวไทย