กรุงเทพ ฯ 28 ก.ย. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยับเพิ่มจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 4.6 ผลจากเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวดี เชื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เกิดฟองสบู่
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.6 จากเดิมร้อยละ 4.5 เนื่องจากอัตราการขยายตัวที่เติบโตสูงในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 4.8 แต่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าผ่อนแรงลง เนื่องจากการส่งออก จากผลกระทบปัญหาสงครามการค้า และท่องเที่ยวชะลอลงผลกระทบจากกรณีเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยน้อยลง ส่วนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 8.8 การนำเข้าเร่งตัวขึ้นขยายตัวร้อยละ 16.5 ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้มีรายได้ 15,000- 30,000 บาทต่อเดือน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัญญาณดีขึ้น ส่วนกำลังซื้อฐานรากยังประคองตัว อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งปี 2562 จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนและเชื่อว่าจะมีการสานต่อโครงการที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย คือ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ- จีน ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยให้ขยายวงกว้างมากขึ้นปี 2562 ความเปราะบางของตลาดเกิดใหม่และวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขยับดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีหน้า ต่อเนื่องจากการปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่สัญญาณการเตรียมลดการผ่อนคลายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่า กนง.จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสแรกปี 2562 และจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปรับเพิ่มประมาณการสินเชื่อทั้งปี 2561 ขึ้นมาที่ร้อยละ 6 จากเดิมร้อยละ 4.8-5.3 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตค่อนข้างดีของสินเชื่อหลายประเภทในช่วงที่ผ่านมาของครึ่งปีแรก สอดคล้องกับเศรษฐกิจภาพรวมที่ขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยคาดว่าโตร้อยละ 5.7 เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 5.5 เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและพร้อมโอนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มองว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังไม่ร้อนแรงเกินไป เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อขนาดเศรษฐกิจยังอยู่ระดับต่ำ และธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม แต่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการนำไปสู่ภาวะฟองสบู่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 แต่ยอมรับว่ายังคงมีที่อยู่อาศัยรอการขายยังอยู่ในระดับสูง ประมาณ 190,000 หน่วย โดยเป็นคอนโดมิเนียมมากกว่าร้อยละ 40
ส่วนข้อกังวลต่อประเด็นความต้องการซื้อที่อาจไม่ได้เป็นความต้องการซื้อที่แท้จริงนั้น พบว่าส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 ของที่อยู่อาศัยที่ขายได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน อีกทั้งบางส่วนร้อยละ 12 เป็นการซื้อโดยชาวต่างชาติ ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนยังมีสัดส่วนน้อย ส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการดูแลสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ น่าจะช่วยให้ตลาดปรับตัวในทิศทางที่มีคุณภาพมากขึ้น .- สำนักข่าวไทย