กรุงเทพฯ 27 ก.ย. – สมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมนมและสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ร้องเรียนว่า อสค.เอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการรายใหญ่ รมว. เกษตรฯ เร่งตั้งทีมงานไต่สวนข้อเท็จจริง อีกทั้งสั่งการปลัดกระทรวงฯ ส่งหนังสือทุกหน่วยงาน ตรวจสอบทั้งจำนวนเด็กนักเรียนเทอม 2 ปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตจริงให้ชัดก่อนทำโควตา ปิดช่องทุจริต
นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภัยหลังสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบและสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์เข้าร้องเรียนปัญหาการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนไม่เป็นธรรม ว่า ได้ตั้งคณะทีมงานรัฐมนตรีไปไต่สวนข้อเท็จจริงการทำงานขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อสค.)ว่าการบริหารในโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ร้องว่าการทำงานของ ผอ.อสค. เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตนมรายใหญ่ทำให้เกิดการผูกขาดและไม่เป็นธรรมต่อรายย่อยมานาน ซึ่งหากคณะทำงานที่ตั้งไปพบร่องรอยตามข้อกล่าวหาก็จะตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผอ.อสค.และยังได้สั่งให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯทำหนังสือด่วนถึง ผอ.อสค. และอธิบดีปศุสัตว์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบจำนวนนักเรียนในเทอม 2 ปี 2561 ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ที่ชัดเจนเพื่อจะได้นำมาจัดสรรสิทธิ์ให้กับผู้ประกอบการนมโรงเรียน เพราะหากเด็กลดลงก็จะประหยัดงบประมาณได้เนื่องจากจำนวนเด็ก ลดลงทุกปี นอกจากนั้นให้แต่ละสมาคมไปดูว่ามีการคดีความอะไรที่ยังไม่หมดอายุความและมีคนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯไปเกี่ยวข้อง หรือกรมไหนรับใต้โต๊ะแลกโควตานม ให้เอาชื่อหลักฐานมาให้ตน หากพบว่ามีมูลจะดำเนินการโดยเฉียบขาด
พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไปตรวจสอบการทำเอ็มโอยูการซื้อนมทั้งหมด เนื่องจากมีข้อร้องเรียนมากว่า มีการทำ เอ็มโอยูเท็จ ทำให้จำนวนตัวเลขผลผลิตนมไม่ตรงกับปริมาณนมจริง และให้กรมปศุสัตว์ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าโครงการและ ตรวจสอบศูนย์รวบรวมนมใหม่ทั้งหมด ให้เสร็จภายใน 7 วัน เพื่อนำมาตรวจสอบและมากำหนดระเบียบการทำโควตานมใหม่ให้ทันเทอม 2/2561 เพราะจากปัญหาที่สมาคมต่างๆมาร้องเรียน มักจะวนอยู่ที่ โควตานมและความต้องการนมที่ไม่เท่ากันทุกเทอม จำนวนวัวนมที่ให้ผลผลิต และจำนวนผู้ประกอบการที่มีปรับเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งแต่ละศูนย์รวบรวมปริมาณนมไม่เท่ากันทุกเทอม ต้องขอใหม่ทุกเทอม ส่วนทางกับจำนวนเด็กที่ลดลง ทำให้เกิดข้อขัดแย้งเกิดขึ้นต่อเนื่อง
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการทุกฝ่ายเกี่ยวข้องให้ไปหารือเรื่องปริมาณนมดิบแต่ละวัน และให้แยกกองให้ชัดว่าเป็นนมโรงเรียนเท่าไหร่ นมพาณิชย์เท่าไหร่และให้แยกลงไปรายละเอียดว่าเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ เท่าไหร่ และนมยูเอชทีเท่าไหร่ หาสูตรให้ชัดแล้วมากคุยกัน เพื่อเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหลักเกณฑ์ต้องเป็นธรรมด้วย
ทั้งนี้ได้กำชับให้ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีปี2552 ให้ชัดว่า กำหนดให้นักเรียนดื่มขนาดกี่มิลลิลิตรต่อคน กี่วันต่อสัปดาห์ และกี่วันต่อปี เพราะเรื่องนี้ทะเลาะกันไม่จบ และเอาจำนวนเด็กเป็นที่ตั้ง เรื่องนี้มันยุ่งยาก ไม่ใช่เอาตัวเลขมาหารก็จบ เพราะมีปัญหาทับซ้อนมานาน ต้องหาสูตรที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ย้ำว่า สัปดาห์หน้าต้องหาสูตรคำนวณการจัดสรรโควต้าให้เสร็จ
นายกฤษฏา กล่าวว่าตัวเลขการใช้นมโรงเรียนขณะนี้ยังทะเลาะกันมากเพราะไม่ตรงกัน โดยอสค.ระบุว่าใช้ 1,170 ตันต่อวัน แต่ทางสมาคมนมพาสเจอร์ไรส์ชี้แจงว่าใช้วันละ 1,400 ตันต่อว่า เด็กดื่ม 200 มิลลิลิตร ต่อวัน งบประมาณรัฐจ่ายให้เด็กรายละ 7 บาทต่อกล่อง แต่สมาคมนมพาสฯบอกว่านม 206 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งจำนวนเด็ก 7.4 ล้านคน วัวนม 6 แสนตัว แต่ให้ผลผลิต 3 แสนตัวต่อวัน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 1.7 แสนครัวเรือน ฝากให้ช่วยคิดสูตรนมโรงเรียน ควรจะให้แต่ละจังหวัดไปดำเนินการจัดซื้อกันเองดีหรือไม่ และไปประมูลตามระเบียบราชการกันเอง คุมกันเอง เพราะตนเป็นคนคิดทฤษฏีการตลาดนำการผลิต ก็ช่วยกันดูว่าทำอย่างไรผลผลิตจะไม่ล้นตลาด
ด้านนายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมนมพาสเจอร์ไรซ์ กล่าวว่าปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตทั้งประเทศ 3,433 ตัน สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ผลิต 1,990 ตัน ที่เหลือมาจากผู้เลี้ยงรายย่อย 1,443 ตัน ทำนมโรงเรียน 1,170 ตัน ต่อวัน ทำนมพาณิชย์ 1,880 ตัน ถามนมที่เหลือจะไปไหน ที่ผ่านมา อสค. ทำหน้าที่ตัวกลางจัดสรรสิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอ้างคำท้วงติงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ที่ระบุว่าอสค.ผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นต้องลดการผูกขาด ซึ่งในเรื่องนี้เคยเสนอแล้วว่าผลิตภัณฑ์นมให้ใช้ยี่ห้อกลางคือ โบว์ทอง เพื่อรับรองคุณภาพว่าเป็นนมคุณภาพ เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งในประทศและในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมเพิ่มทุกปี แต่อสค. เอื้อประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงไม่กี่กลุ่มตั้งแต่ปี 53-61 ที่จะวนอยู่รายใหญ่ในไม่กี่กลุ่ม อสค.จะอ้างว่าโควตานมโรงเรียนจำกัดเพราะ อสค. นอกจากนั้นจัดสรรสิทธิ์แล้วยังเป็นผู้จำหน่ายเองด้วย ซึ่งจะเห็นจากสัดส่วนนำเข้านมผงเพิ่มขึ้นทุกปี และไม่มีประเทศไหนในโลกที่ใช้วิธีจัดซื้อนมแบบนี้ เขาใช้ระบบสากลกันหมดแล้ว ซึ่งการแข่งขันจะเกิดการพัฒนา. – สำนักข่าวไทย