กรุงเทพฯ 26 ก.ย. – กรมชลประทานเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก สำรองไว้ใช้ในพื้นที่เศรษฐกิจเมืองบุรีรัมย์ หลังหลายฝ่ายกังวลน้ำไม่พอใช้ช่วงแล้งหน้า ด้านกรมฝนหลวงฯ ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเร่งด่วนช่วยพื้นที่เกษตร
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ว่า ปัจจุบัน(25 ก.ย.) อ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง (เขื่อนลำนางรอง) และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 15 แห่ง มีความจุที่ระดับเก็บกักรวมกันทั้งสิ้น 291 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 จำนวน 8 แห่ง อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 30-50 มี 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 50 -80 มี 5 แห่ง ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 มี 1 แห่ง ถือได้ว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย เพราะตามเกณฑ์ปกติแล้วทุกแห่งควรมีปริมาณน้ำร้อยละ 70 – 80 ของความจุอ่างฯ
สำหรับปริมาณน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจเมืองบุรีรัมย์ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 1.06 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดมีปริมาณน้ำประมาณ 3.69 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำทั้ง 2 แห่งประมาณ 4.75 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคบุรีรัมย์มีความต้องการใช้น้ำดิบสำหรับผลิตประปาเดือนละประมาณ 1.6 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ จะมีน้ำต้นทุนใช้ได้อีกประมาณ 3 เดือน
กรมชลประทานวางมาตรการรับมือด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก โดยการสำรองน้ำจากหน้าฝายบ้านยาง ซึ่งเป็นจุดรวมน้ำจากลำปลายมาศ ลำปะเทีย และลำนางรอง ผ่านสถานีสูบน้ำลำปลายมาศในอัตรา 2 ลบ.ม./วินาที เข้าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 61 เป็นต้นมา สามารถสูบน้ำเข้าอ่างฯ ได้ประมาณ 100,000 ลบ.ม./วัน โดยจะสูบน้ำต่อเนื่องจนกว่าน้ำในลำปลายมาศจะหยุดไหล พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปลายมาศบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนบน ไหลลงผ่านฝายปะคำอย่างต่อเนื่องให้นานที่สุดประมาณ 2 – 3 เดือน จะทำให้มีน้ำดิบสำรอง เพิ่มอีก 6-9 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อผลิตประปาอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังสำรองน้ำให้กับพื้นที่เศรษฐกิจในเขตอำเภอนางรอง โดยการผันน้ำจากลำปลายมาศ ช่วงฝายปอแดงลงสู่อ่างเก็บน้ำหนองทะลอก ซึ่งสามารถผันน้ำได้ปีละประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาชุมชนเมืองนางรองและสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 3,000 ไร่
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรทั่วทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากมีบางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร จึงยังคงต้องเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ร้องขอฝน ได้แก่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ลำพูน ตาก ลำปาง แพร่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ และสระแก้ว
นายสุรสีห์ กล่าวว่า ได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ หลายพื้นที่ โดยจากพื้นที่เป้าหมายเดิม 15 แห่ง เป็น 104 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้น จึงสั่งการให้นักวิทยาศาสตร์ นักบินฝนหลวง และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง โดยนำเครื่องบินชนิด CASA 4 ลำ มาประจำการเพิ่ม ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีช่วงจำนวนระยะเวลาการปฏิบัติน้อย ประกอบกับสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน โอกาสที่จะปฏิบัติการสำเร็จตามเป้าหมายเป็นไปได้ยาก จึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ และติดตามสถานการณ์และสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดทุกวัน.-สำนักข่าวไทย