กรุงเทพฯ 21 ก.ย. – กระทรวงอุตสาหกรรมย้ำตั้งเป้าภายในปี 2579 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 25 ของการผลิตทั้งหมด แนะอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา “20 ปี สถาบันยานยนต์ ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์” ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายที่จะให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV คิดเป็นร้อยละ 25 ของการผลิตทั้งหมดภายในปี 2579 และมั่นใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความพร้อม ทั้งบุคลากรและซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง และจะสามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียนต่อไป
นายสมชาย กล่าวว่า 5 ปีนับจากนี้จะอยู่ในช่วงของการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทุกประเภท เพื่อให้ครอบคลุมเทคโนโลยีของแต่ละค่ายที่มีทิศทางแตกต่างกันทั้งรถยนต์ประเภทไฮบริด ไฮบริดปลั๊กอิน รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รวมถึงชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายใต้การส่งเสริมของกระทรวงพลังงาน ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีเงื่อนไขที่ดีสำหรับผู้ลงทุน ปัจจุบันมีผู้ยื่นลงทุน 4-5 ราย โครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จ ด้านมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าก็พร้อมแล้ว ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในภาพรวมขณะนี้ แบ่งได้ 3 กุล่ม คือ กลุ่มแรก เมื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้วชิ้นส่วนที่ผลิตจะไม่ถูกนำใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มที่ 2 ยังมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในปัจจุบันบางส่วน และกลุ่มที่ 3 จะต้องลงทุนผลิตชิ้นส่วนใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับการพัฒนาเอสเอ็มอีที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะนี้ได้รับการช่วยเหลือพัฒนายกระดับ โดยใช้บิ๊กบราเธอร์ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี โดยมีบริษัท เด็นโซ่ เข้ามาช่วยเหลือ นำ การพัฒนา Lean Automation System Integrator หรือ LASI Project
ด้านสถาบันยานยนต์จึงตั้งศูนย์วิจัยยานยนต์สมัยใหม่หรือ Next Generation Automotive Research Center เพื่อศึกษาและวิจัยแนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมของยานยนต์ พร้อมเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สอดคล้องกับเทคโนโลยียานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สำคัญ เป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับ 12 ของโลก แต่จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการที่ไทยมีโปรดักส์แชมป์เปี้ยน คือ รถกระบะและอีโคคาร์ ซึ่งใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ขณะที่แนวโน้มการผลิตรถยนต์สมัยใหม่มุ่งสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์ไทยจึงต้องปรับตัว ซึ่งสถาบันยานยนต์ไทยเตรียมพร้อมด้วยการปรับนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปรับตัวและก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลง
ส่วนการปรับสายการผลิตรถอีโคคาร์ไปสู่อีโคอีวีนั้น อีโคคาร์และอีโคอีวี มีหลักการการผลิตแนวเดียวกัน แต่เมื่อจะปรับไปสู่การผลิตอีโคอีวีจะต้องปรับปรุงมาตรฐานต่าง ๆ เพิ่ม เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ทั้งแบตเตอรี่ และอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งสถาบันยานยนต์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถก้าวหน้าต่อไป
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้เป็นปีที่ 57 แล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถขึ้นมาเป็นฐานการผลิตมากที่สุด อันดับที่ 12 ของโลก ไทยสามารถรักษาตำแหน่งนี้มาได้พอสมควร โดยเคยทำได้ถึงอันดับที่ 9 เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตรวม 3 ล้านคันต่อปี ใช้กำลังจริงประมาณ 2 ล้านคันต่อปี แต่คาดว่าจากสภาพตลาดที่ฟื้นตัวขึ้นคาดว่าการใช้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ 11 ราย จักรยานยนต์ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยมีแนวโน้มเป็นการผลิตบิ๊กไบค์ 7 ราย และมีผู้ผลิตชิ้นส่วน 2,200 ราย
นายอิดิศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะเป็นทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบนโยบายปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยมุ่งสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่มีมาตรการรองรับทั้งการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมปริมาณการใช้ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จ และมาตรฐานความปลอดภัย การจัดการกับแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เป็นต้น ซึ่งสถาบันการยานยนต์มีการปรับบทบาทให้สอดคล้องเช่นกัน และจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สถาบันยานยนต์จะติดตามและวิเคราะห์และนำมารายงานสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องนำเสนอภาครัฐและภาคเอกชน ประชาชนต่อไป
สำหรับมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทย มาตรการชุดแรก มุ่งส่งเสริมผลิตรถไฮบริด โดยกำหนดให้ผู้ผลิตที่สนใจยื่นโครงการภายในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ยื่น 7 ราย ปัจจุบันอนุมัติลงทุน 5 ราย โดยเป็นการลงทุนผลิตทั้งรถยนต์กลุ่มไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด 3 ราย และรถยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริด 2 ราย ปีนี้มีการยื่นขอลงทุนผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดอีก 1 ราย รวมเป็น 8 ราย ซึ่งมาตรการส่งเสริมการผลิตรถประเภทปลั๊กอินและรถอีวี ให้ยื่นขอรับส่งเสริมโครงการลงทุนไม่เกินสิ้นปีนี้ ส่วนการพัฒนาต่อยอดอีโคคาร์ สู่การเป็นอีโคอีวี ปัจจุบันอีโคคาร์เข้าสู่ระยะที่ 2 ส่วนการจะปรับไปสู่การผลิตเป็นอีโคอีวี นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทราช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามาใช้บริการรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ได้ ขณะเดียวกันสถาบันยานยนต์จะยกระดับการทำงานให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ให้บริการสะดวกรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพัฒนาจนมีศักยภาพและกำลังการผลิตปีละ 3 ล้านคัน ส่งออกรถยนต์ปีละกว่า 1 ล้านคัน สร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากความท้าทายที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคและผู้เล่นรายใหม่ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมโลก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่.-สำนักข่าวไทย