สภาสถาปนิก 18 ก.ย.-4 สภาวิชาชีพ วิศวกร-สถาปนิก-ทนายความ-บัญชี คัดค้านมาตรา 48 ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ไม่ให้สถาบันอุดมศึกษาให้ บริการวิชาชีพ ชี้ขัดกฎหมาย เกิดการเเข่งขันสูงเเละไร้การควบคุมการประกอบวิชาชีพอันส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน
นายทัศไนย ไชยแขวง ประธานสมาพันธ์สภาวิชาชีพ เป็นประธานเเถลงข่าวร่วมกับนายกสภาวิศวกร นายกสถาปนิกเเละอุปนายกสภาวิชาชีพบัญชี เรื่องมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคมอย่างไร ภายหลังมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ….นั้น ในส่วนที่ 3 การบริการวิชาการแก่สังคม มาตรา 48 ได้บัญญัติให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความและวิชาชีพบัญชี รวมถึงขัดแย้งกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ…..ในหมวด2 ว่าด้วยหลักการสำคัญของการจัดการอุดมศึกษามาตรา 8 ในหมวด5ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษามาตรา 37(3)ด้วย เพราะไม่ได้กำหนดว่าการบริการด้านวิชาชีพเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา
สภาวิชาชีพจึงขอคัดค้านบทบัญญัติของมาตรา 48 โดยขอให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ที่ระบุใน มาตรา 48 ออกทั้งหมด เพื่อเป็นการปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกรกล่าวว่า มาตรา 48 ให้อำนาจการบริการทางวิชาชีพกับมหาวิทยาลัยซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐ ในกำกับของรัฐเเละเอกชน ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมามากมาย จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามารถออกไปรับจ้างประกอบธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดที่ 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่ารัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลมาประกอบวิชาชีพโดยใช้ทรัพยากรของรัฐโดยไม่มีต้นทุน ต่างกับภาระต้นทุนของภาคเอกชนทำให้ได้เปรียบภาคเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้ไม่เกิดการว่าจ้างนิติบุคคลเอกชนหรือจ้างในอัตราที่ต่ำมาก กระทบต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาด้านวิชาชีพ ตลอดจนการจ้างงานบุคลากรวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพภาคเอกชนอย่างมากและอาจเป็นสาเหตุให้วิชาชีพเกิดความอ่อนแอในอนาคต
ขณะที่การให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้ ส่งผลให้การได้รับบริการวิชาชีพไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพควบคุมซึ่งเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแล ปัจจุบันหากมหาวิทยาลัยจะบริการวิชาชีพด้วย ต้องขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อออกใบอนุญาต ซึ่งการไปจดทะเบียนได้นั้น มหาวิทยาลัยนั้นๆต้องมีศักยภาพในการให้บริการทางวิชาชีพในด้านนั้นๆได้อย่างมีคุณภาพเเละประสิทธิภาพ ผู้ทำงานต้องมีประสบการณ์เฉพาะด้านเเละต้องมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพโดยเฉพาะอาชีพด้านวิศวกรรม สถาปนิก กฎหมายเเละบัญชี ทั้งต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่จะก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชน หากไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดก็จดทะเบียนไม่ได้ เเต่หากมีกฎหมายเอื้อให้มหาวิทยาลัยให้บริการทางวิชาชีพได้ เเละเป็นการให้บริการที่ไม่มีคุณภาพ หากไม่ควบคุมการให้บริการก็จะเกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้การให้บริการวิชาชีพได้ต้องสอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆได้แก่กฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความกฎหมายวิชาชีพบัญชี และกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ที่บังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว อันจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างสภาวิชาชีพกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบล่าช้าต่อการบริหารจัดการกิจการภาครัฐและส่งผลกระทบถึงสังคม ประชาชนในที่สุด .-สำนักข่าวไทย