สำนักข่าวไทย 6 พ.ย.-ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเห็นด้วย ป.ป.ช.หลังออกกฎหมายให้นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยแจงบัญชีทรัพย์สิน แนะให้ตรวจสอบรองอธิการ-คณบดีด้วย
นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายให้สัมภาษณ์กรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาเมื่อวันที่1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าวกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาและอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) แจงหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะว่า ตนพร้อมที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ตรวจสอบ และเห็นด้วยกับประกาศนี้เพราะที่ผ่านมาไม่มีกลไกหลักในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน และการบริหารงบประมาณภายในมหาวิทยาลัย มองว่าการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน จะสามารถทำให้หน่วยงานโปร่งใส ซึ่งบุคคลที่กลัวการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินคือกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ มีวาระซ่อนเร้น ในเมื่อตัดสินใจเดินทางในสายนี้แล้ว ต้องมีการตรวจสอบเหมือนหน่วยงานข้าราชการทั่วไป
โดยกลุ่ม CHES เตรียมยื่นหนังสือให้ป.ป.ช.ในวันพรุ่งนี้(7พ.ย.61) โดยสนับสนุนให้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าวและจะขอให้พิจารณาตรวจสอบ รองอธิการบดี และคณบดีเพิ่มเติมด้วย
นายวีรชัย กล่าวต่อว่า ศูนย์CHES พบข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยที่กำกับดูแลโดยรัฐแต่ละแห่งจะได้รับงบประมาณแผ่นดินมหาศาล ตั้งแต่หลัก 300ล้านบาท ถึง 10,000ล้านบาท ยังไม่รวมกับเงินรายได้ และการตรวจสอบอธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่เป็นไปได้ยาก.-สำนักข่าวไทย