นนทบุรี 18 ก.ย. – ป.ป.ท.เปิดรูปแบบการทุจริตภาครัฐ พบมีการทุจริตหลากหลายรูปแบบ นักวิชาการชี้มีการทุจริตรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ทิศทาง การทุจริตภาครัฐเพิ่ม รวมมูลค่าความเสียหายปีนี้ ประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท
นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา ร่วมสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำเสนอผลการศึกษารูปแบบการทุจริต ประจำปี2561 ของสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(สำนักงาน ป.ป.ท.) ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี2551ถึงปัจุบันพบว่าสถิติจำนวนการรับเรื่องร้องเรียนมากกว่า30,000 เรื่องโดยเป็นลักษณะประเภทคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีพฤติการณ์ รูปแบบการทุจริตที่หลากหลายตามภารกิจแต่ละองค์กร บางคดีมีการกระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก บางคดีอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ส่งผลกระทบรุนแรง มีมูลค่าความเสียหายสูง โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้กระทำผิด
สำหรับปีนี้ได้รวบรวมรูปแบบการทุจริตในคดีต่างๆ จากหน่วยงานในสังกัดจำนวน 14 เรื่อง มาเป็นกรณีศึกษา อาทิ กรณีการสมรสอำพรางของชาวต่างชาติกับชาวไทย กรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเงินออมชราภาพผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม กรณีการยักยอกทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในรัฐวิสาหกิจด้านสถาบันการเงิน กรณีการทุจริตของพนักงานรับฝากเงินและตราสาร กรณีการเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน กรณีการสวมบัตรประชาชนคนไทย/กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นต้น
รองศาสตราจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาผลการศึกษารูปแบบการทุจริต กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการทุจริตที่เกิดขึ้นมีความหลากหลายและเกิดขึ้นในทุกระดับและทุกองค์กรของภาครัฐ โดยเฉพาะบางประเด็นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือการยักยอกทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในรัฐวิสาหกิจด้านสถาบันการเงิน กรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเงินออมชราภาพผู้ประกันตน และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาเฉพาะกิจ 3จังหวัดใช้แดนภาคใต้ ซึ่งเพิ่งพบเป็นครั้งแรก ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการทุจริตที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เคยมีการศึกษามาก่อนหน้านี้
ส่วนประเด็นที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ปัญหายังคงรุนแรง เช่น ปัญหาการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเกิดขึ้นในทุกระดับทั้งโครงการของรัฐขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก และการทุจริตในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งของประเทศและของต่างชาติ เช่น การจดทะเบียนสมรสอำพราง หรือกรณีการสวมบัตรประชาชนและการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้กับชาวต่างชาติ ทำให้คนต่างชาติได้เป็นคนไทย ซึ่งมีตัวอย่างความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มต่างชาติผู้มีเงินและอำนาจทางธุรกิจที่เข้ามาสร้างธุรกิจในเมืองไทยและทำลายธุรกิจที่เป็นของคนไทยแท้ ๆ จนเสียหาย บางกรณีมีการนำเงินส่งออกไปให้องค์กรต่างประเทศ ใช้ก่อความไม่สงบ ที่สำคัญยังพบการทุจริตที่เป็นหมู่คณะของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดการรับสินบน การซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งจากการศึกษาประเมินว่าในปี2561 น่าจะมีมูลค่าความเสียหาย จากการทุจริตรวม ไม่น้อยกว่า 50,000-100,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
รองศาสตราจารย์สังศิต กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้ภาพรวมการทุจริตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เงื่อนไขสำคัญเกิดจากระบบการเมืองแบบปิดที่มีจุดอ่อนคือการไม่มีองค์กรตรวจสอบอย่างแท้จริง ผนวกกับปัจจัยด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีระบบคุณธรรมและระบบพวกพ้องเส้นสาย และการบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้างไม่มีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างบิดเบือนในการตัดสินใจทำให้เกิดการหาผลประโยชน์เข้าส่วนตัว อย่างไรก็ตามมองว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็มีปัญหาการทุจริตเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกับการมีอำนาจ ถ้ามีอำนาจมากกว่า การทุจริตก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ป.ป.ท.จะนำผลการศึกษาจัดทำเป็นรูปแบบวิเคราะห์แผนประทุษกรรมว่ามีพฤติการณ์สาเหตุและผลกระทบอย่างไร ซึ่งหลังจากศึกษาแล้วก็จะนำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดในการป้องกันปิดจุดอ่อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบสวนสอบสวนดำเนินการปราบปรามต่อไป.-สำนักข่าวไทย