ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ 17 ก.ย. – ม็อบเกษตรกรบุก ธ.ก.ส. ขอความชัดเจนแนวทางช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา
นางราตรี เอี่ยมสอาด และนายโกวิท เทพไพฑูรย์ แกนนำกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรของ “พระราชา” กำแพงเพชร นครสวรรค์ และสมาชิกเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ชุมนุมบริเวณหน้าธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร .(ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน ได้เข้าหารือกับนายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เพื่อเจรจาปัญหาหนี้สิน โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีปรับโครงสร้างหนี้ การดำเนินคดีกับคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และผู้เกี่ยวข้องที่ไม่รายงานงบประมาณ ตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ ช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรเสียสิทธิประโยชน์ โดยเสนอขอปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการลดต้นเงินกู้เหลือครึ่งหนึ่ง และพักชำระหนี้ดอกเบี้ย 15 ปี
สำหรับการเจรจากับผู้บริหาร ธ.ก.ส. เพื่อขอตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรตามที่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. การเสนอให้พนักงาน ธ.ก.ส.ในพื้นที่พูดคุยกับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยมิตรภาพ จากนั้นวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.) เตรียมเดินทางไปเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงขอนอนพักค้างคืนบริเวณ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ บางเขน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกำชับว่าขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมพักค้างคืนด้วยความสงบ ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ในส่วนของ กฟก.กำหนดแนวทางการช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ สำหรับผู้ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร มีวัตถุประสงค์การกู้ยืมจากกองทุนเพื่อการเกษตรเป็นหนี้ที่มีหลักประกันและราคาประเมินคุ้มกับภาระหนี้ กรณีผิดนัดชำระ 3 ปีขึ้นไป สำหรับหนี้เร่งด่วน ยอดหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อราย จึงมีแนวทางช่วยเหลือ โดยกองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมชำระหนี้แทนให้เกษตรกร ส่งเงินชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส.เงินต้นร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งและภาระดอกเบี้ยเดิม เสนอรัฐบาลรับภาระแทนเกษตรกร 239 ราย รวมเป็นยอดเงินต้น 106 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ย 159 ล้านบาท
สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากเกษตรกรรายใดผิดนัดชำระหนี้กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล เพราะเจตนาไม่ชำระหนี้คืน ธ.ก.ส.จะไม่ได้รับการช่วยเหลือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในการตัดเงินต้นร้อยละ 50 และพักดอกเบี้ยเดิม โดยให้ผ่อนชำระเงินต้นที่เหลืออีกร้อยละ 50 อัตราดอกเบี้ยง MRR-ร้อยละ 3 หรือประมาณร้อยละ 4 ต่อปี หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามแผนที่ตกลงกันไว้ ธ.ก.ส.จะนำเงินต้นที่ตัดออกและดอกเบี้ยที่พักไว้มารวมกันเช่นเดิม การปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงต้องเข้าแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเพื่อให้มีรายได้มั่นคงขึ้นจนสามารถชำระหนี้ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยกลุ่มเกษตรกรขอติดตามผลประชุม ครม.ในการแก้ปัญหาหนี้ของเกษตรกร . – สำนักข่าวไทย