กทม.16 ก.ย.-สปสช.เผยผลสรุป17 เดือน นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” มีผู้ป่วยเข้ารักษา 2.4 หมื่นราย ยอดจ่ายชดเชยค่ารักษา 489 ล้านบาท ผล รพ.เอกชน สนับสนุนนโยบายสำเร็จ
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวว่า จากที่รัฐบาล โดยนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันและดำเนินนโยบาย“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”(Universal Coverage for Emergency Patients:UCEP)เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วในเวลาที่จำกัดยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด มุ่งลดภาวะความพิการและอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยวิกฤตนี้ โดยมอบให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)เป็นหน่วยงานหลักในการประสานดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ
นพ.การุณย์ กล่าวต่อไปว่า จากรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2560 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2561มีการบันทึกข้อมูลการเบิกชดเชยค่ารักษาพยาบาลผ่าน สปสช.จำนวน 24,416 ราย มีการจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาล 489 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 15,780 ราย สวัสดิการข้าราชการจำนวน 4,277 ราย ประกันสังคมจำนวน 3,384 ราย
‘นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตนี้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาในช่วงฉุกเฉินวิกฤตโดยไม่ต้องมีภาระค่ารักษาพยาบาลในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ตลอดระยะเวลา17เดือนของความ สำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความร่วมมืออันดีของโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินนโยบายนี้ จนบรรลุหลักการและเป้าหมาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการ ณ จุดเกิดเหตุที่ใกล้ที่สุดได้ ขณะที่ยอดการจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลถือว่าไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการดูแล’ นพ.การุณย์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย