กรุงเทพฯ 14 ก.ย. – กพร.ย้ำยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใดเปิดเหมืองแร่ทองคำ แจงทำเหมืองแร่ทองคำต้องเป็นไปตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ เข้มงวดความปลอดภัยและการป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์ถึงสัญญาณการเปิดเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใดเปิดการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยในส่วนของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยังอยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้มีการเตรียมการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญระดับสากลในการจัดเตรียมแนวทางการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างรัดกุมและเป็นเอกภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อประเทศชาติ ประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการ
ส่วนบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อยู่ระหว่างถูกฟ้องล้มละลายและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ ได้หยุดการทำเหมืองมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 เนื่องจากใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้สิ้นอายุ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุญาตต่ออายุการใช้ประโยชน์พื้นที่จากกรมป่าไม้ อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตบริษัท ทุ่งคำ ประสงค์จะทำเหมืองต่อก็ต้องดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และกรอบนโยบายการบริหารจัดการแร่ทองคำ ซึ่งมีความเข้มงวดในเรื่องของความปลอดภัยและการป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
สำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ปี 2560 – 2564 เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยในส่วนของแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่จะเป็นแนวทางในการบริหารจัดการแร่ให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยสาระสำคัญของแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ประการหนึ่ง คือ การกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง โดยการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจะต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่สงวนหรืออนุรักษ์ต่าง ๆ ได้แก่ เขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมาย ห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือ ป่าน้ำซับซึม ทั้งนี้ การกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในพื้นที่ใดก็ตาม เป็นเพียงการกำหนดเขตพื้นที่ที่อาจอนุญาตได้เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดจะได้รับอนุญาตให้ทำเหมือง เพราะการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายอย่างเข้มงวด รวมทั้งต้องผ่านการรับฟัง ความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่
“หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตทำเหมืองที่สำคัญ คือ การยอมรับของชุมชนในพื้นที่ การพิจารณาความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมือง ความเหมาะสมของมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งพิจารณาแผนการฟื้นฟู การพัฒนา การใช้ประโยชน์และการเฝ้าระวังผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย