กรุงเทพฯ 7 ก.ย. – กรมชลฯ ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรีเร่งแก้ปัญหาน้ำระบายจากเขื่อนแก่งกระจานท่วมขังพื้นที่เกษตรนานนับเดือน เสนอปั้นคันดินล้อมสูบน้ำออกจากพื้นที่เร็วที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงกรณีน้ำที่ระบายจากเขื่อนแก่งกระจานจนล้นตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรีท่วมขังตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง ซึ่งพื้นที่เกษตรแช่น้ำนานนับเดือนจนเสียหาย ว่า ระยะเร่งด่วนจะจัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปปั้นคันดินและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดที่สามารถทำได้ เบื้องต้นขออนุญาตนำรถแบ็คโฮเข้าในพื้นที่และสูบน้ำออก แต่ชาวบ้านท่าไม้รวกขอปรึกษากันว่าทุกคนจะยอมตามข้อเสนอหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าการสูบน้ำออกบางพื้นที่อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ของคนอื่นที่ไม่สามารถปั้นคันดินปิดกั้นได้
นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยส่งเข้าคลองส่งน้ำหน้าเขื่อนเพชรให้เต็มศักยภาพและเสริมการใช้เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำในจุดที่มีปัญหา พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรลงแม่น้ำเพชรบุรีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเป็นผลให้น้ำล้นตลิ่งท่วมขังตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมากอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี โดยน้ำท่วมนานนับเดือนแล้ว ส่วนระยะกลางจะศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารชลประทาน เช่น ประตูระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ การเสริมตลิ่ง ในพื้นที่นี้บริเวณแม่น้ำเพชรบุรีสายเก่าที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากให้สามารถป้องกันหรือบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้ได้ โดยการศึกษาต้องทำผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว กรมชลประทานจะสร้างการมีส่วนร่วมปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชอายุสั้น เพื่อเก็บผลผลิตก่อนเข้าช่วงฤดูน้ำหลากและพิจารณาปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเหมือนดั่งลุ่มภาคกลางโดยการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน
ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ล่าสุด (7 ก.ย.) เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 742 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 105 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำน้ำวันละประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มปริมาณน้ำในอ่างฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานจะลดระดับน้ำในอ่างฯ ให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุม เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาอีกในระยะต่อไป ขณะที่เขื่อนเพชร ปัจจุบันระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี 126 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณวันละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการรับน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ 4 สาย รวม 58 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำที่สถานี B.10 อำเภอท่ายาง ต่ำกว่าตลิ่ง 3.44 เมตร ระดับน้ำที่สถานี B.16 อำเภอบ้านลาด ต่ำกว่าตลิ่ง 1.48 เมตร ส่วนที่สถานีB.15 ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง 0.22 เมตร แนวโน้มระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรที่ลุ่มต่ำบริเวณตำบลบางครก และตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบ้านแหลม ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 10 – 50 เซนติเมตร กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเรือดันน้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ให้ไหลออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด หากไม่มีฝนตกหนักลงมาในพื้นที่ตอนบนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีจะดีขึ้นโดยลำดับในระยะต่อไป.-สำนักข่าวไทย