กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – กรมปศุสัตว์สั่งปศุสัตว์จังหวัดชายแดนเมียนมา เฝ้าระวังโรคระบาดแบล็กเลกในโค หลังพบโคป่วยที่จังหวัดตาก ระบุเป็นโรคที่หมดไปจากไทยแล้ว แต่กลับมาพบอีกครั้ง คาดว่าเชื้อแพร่กระจายมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาเฝ้าระวังโรคแบล็กเลก (Blackleg) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ล่าสุดโคป่วยตายในพื้นที่ตำบลโป่งแดง อำเภอเมือง จังหวัดตาก จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น สัตวแพทย์ตรวจพบว่าโคที่แสดงอาการป่วยและล้มนั้นน่าจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีเชื้อโรคนี้ปะปนเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปอยู่ตามบริเวณที่มีกล้ามเนื้อหนา ๆ เช่น กล้ามเนื้อสะโพก ขา ไหล่ หน้าอก คอหรือลิ้น เป็นต้น แล้วจะขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับสร้างสารพิษออกมาทำลายกล้ามเนื้อรอบ ๆ บริเวณที่เชื้ออยู่ อาการสำคัญที่พบ คือ มีไข้สูง เดินขากะเผลก กล้ามเนื้ออักเสบบริเวณต้นขาหลัง ซึ่งจะบวมร้อน และมีอากาศแทรกอยู่ภายใน เมื่อกดดูจะมีเสียงดังกรอบแกรบ และหากสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นมามีปริมาณมากและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต การรักษาอาจจะไม่ทันการ จึงทำให้โคล้มได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากประกาศให้ตำบลโป่งแดงทั้งตำบล เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดแบล็คเลกแล้ว และปศุสัตว์จังหวัดตากได้สั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่เกิดโรค พร้อมตั้งจุดสกัดการเคลื่อนย้ายเข้า-ออก เร่งฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโคที่เหลือซึ่งอยู่ร่วมฝูงกับโคที่ป่วยและล้ม เก็บตัวอย่างจากซากโคส่งตรวจวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ส่วนซากโคฝังกลบและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรอบบริเวณ แจ้งเตือนประชาชนไม่ให้นำซากโคไปซำแหละกิน เพราะแม้จะไม่เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่จะทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายได้เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมโรค อีกทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหมั่นสังเกตโคที่เลี้ยง หากมีอาการซึม ไม่กินอาหาร ขาบวมเจ็บ ให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัดเพื่อเข้ามาตรวจโรค หากเป็นโรคแบล็กเลกจะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา รวมทั้งฉีดวัคซีนโคตัวอื่นในฝูง
“กรมปศุสัตว์ควบคุมโรคแบล็กเลกจนหมดไปจากประเทศไทยแล้ว การพบโคป่วยครั้งนี้คาดว่าเชื้อแพร่กระจายมาจากชายแดนเมียนมา ขณะนี้ได้ระดมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแบล็กเลกให้โคในตำบลโป่งแดงและพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคแบล็กเลกให้กับโคทุกตัวที่อยู่ในพื้นที่เกิดโรคและพื้นที่สงสัยปีละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย