กระทรวงคลัง 27 ส.ค. – บอร์ด E-Payment เตรียมเพิ่มโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ 7 แสนบาทต่อรายการยกเว้นค่าธรรมเนียม พร้อมนำร่องคืนแวตผู้ถือบัตรสวัสดิการ พ.ย.นี้ เปิดทางให้ภาคเอกชนจ่ายค่าไฟฟ้า ประปา ผ่านระบบพร้อมเพย์โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม หนุนบริจาควัด มูลนิธิ โรงเรียนผ่านพร้อมเพย์ ขอคืนภาษีไม่ต้องใช้เอกสาร
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National E-Payment เตรียมพิจารณาเพิ่มเพดานการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม จากเดิม 5,000 บาทต่อรายการ เพิ่มเป็น 700,000 บาทต่อรายการ คาดว่าประกาศในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จากนั้นจะศึกษาดูผลสำเร็จแล้วค่อยขยับเพิ่มเป็น 2 ล้านบาทต่อรายการโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินหลายด้าน โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงต่อไป ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนผ่านระบบพร้อมเพย์ 44.3 ล้านบัญชี โอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ 2.6 ล้านล้านบาท หรือ 225 ล้านรายการ
โดยหลังจากเปิดให้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ใช้บริการผ่านพร้อมเพย์ พบว่ามีการโอนเงินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 หรือมียอดเงินสะสมถึง 1.9 ล้านล้านบาท จึงต้องการดึงบริการทางการเงินทุกด้านที่แบงก์พาณิชย์ร่วมกันสร้างขึ้นมาเหมือนกับทางด่วนทางการเงินมาใช้บริการให้มากขึ้นผ่านช่องทางพร้อมเพย์ และยังเปิดทางให้ภาคเอกชนจ่ายค่าไฟฟ้า ประปา ผ่านระบบพร้อมเพย์โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ยอมรับว่าเคาน์เตอร์เซอร์วิสของเอกชนอาจได้รับผลกระทบ แต่ต้องปรับตัวรองรับบริการทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมให้ร้านค้ารายย่อยที่ไม่ได้ติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโหลดแอพพลิเคชั่น QR-Code กับธนาคารกรุงไทย โดยมีร้านค้าสมัครแล้ว 15,000 รายอนุมัติไปแล้ว 7,000 ราย คาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดร้านค้ากระจายทั่วประเทศสมัครกับธนาคารกรุงไทยนับแสนราย เพื่อความสะดวกในการใช้บัตรสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อย
นายอภิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายโอนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เพื่อซื้อสินค้าผ่านบัตรร้อยละ 7 คาดว่าจะเริ่มใช้ได้วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และอาจขยายเวลาจัดทำโครงการมากกว่าเดิมที่กำหนดไว้ 3 เดือนช่วงท้ายปี รวมถึงการส่งเสริมใช้จ่ายเงินผ่านระบบ E-Payment จะหักภาษี ณ ที่จ่ายลดลงจากปกติร้อยละ 3 หรือร้อยละ 1-2 เพื่อส่งเสริมให้ใช้จ่ายผ่านออนไลน์ รวมถึงการบริจาคให้กับวัด โรงเรียน โรงพยาบาล ผ่านระบบโอนเงินพร้อมเพย์ เมื่อขอคืนภาษีเงินบริจาคประจำปีจะไม่ต้องใช้เอกสารขอคืน เพราะมีข้อมูลหลักฐานแล้ว ลดปัญหาเงินทอนวัด หรือการทุจริตขอใบเสร็จจากองค์กร มูลนิธิ และจะสะดวกในการติดตามการฟอกเงิน หรือการทุจริตรูปแบบต่าง ๆ แต่ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะชาวบ้านต่างจังหวัดอาจไม่คุ้นเคยการบริจาคผ่านพร้อมเพย์ จะมีแต่คนระดับกลาง ทำงานในสำนักงาน องค์กรต่าง ๆ ที่นิยมใช้จ่ายผ่านออนไลน์.-สำนักข่าวไทย