กรุงเทพฯ 27 ส.ค. – การประชุม APDT เปิดอย่างเป็นทางการ 30 ประเทศร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เพิ่มประสิทธิภาพการเจาะสำรวจปิโตรเลียม
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ในฐานะประธานการจัดการประชุม APDT เปิดเผยว่า จากการที่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับความ ผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ปัจจุบัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฯ ต้องปรับตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยการแสวงหากระบวนการใหม่ ๆ เทคโนโลยีล้ำสมัย สร้างเครื่องมือและระบบต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
“การประชุม APDT ที่ประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญทำให้บุคลากรในอุตสาหกรรมมีโอกาสแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ มุมมองใหม่ ๆ รวมทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเจาะสำรวจปิโตรเลียม เนื่องจากการเจาะสำรวจแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นขั้นตอนสำคัญของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะพิสูจน์ว่ามีแหล่งน้ำมันหรือก๊าซฯ หรือไม่ และเป็นขั้นตอนที่ใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพการเจาะสำรวจโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จึงเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมให้ความสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานของแต่ละบริษัทบรรลุเป้าหมาย” นายสมพร กล่าว
สำหรับการประชุม APDT ครั้งนี้มีการนำเสนอบทความทางวิชาการเกี่ยวกับการเจาะสำรวจมากกว่า 90 หัวข้อ จาก 22 ประเทศ มีการอภิปรายด้านการขยายความร่วมมือทางธุรกิจ อนาคตของแท่นเจาะน้ำมัน และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดย ปตท.สผ.ได้ส่งบทความทางวิชาการนำเสนอในงาน 8 หัวข้อ เช่น งานวิจัยที่เกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการเจาะในโครงการซอติก้า และการเพิ่มประสิทธิและลดต้นทุนการเจาะในโครงการเอส 1 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากเกือบ 30 บริษัท โดย ปตท.สผ.ร่วมแสดงนิทรรศการภายใต้แนวคิด “ความภาคภูมิใจของประเทศไทย” (Pride of Thailand) นำเสนอความสำคัญของแหล่งน้ำมันดิบสิริกิติ์ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศไทย รวมทั้งนำเทคโนโลยีที่ ปตท.สผ.คิดค้นขึ้น โดยร่วมกับสถาบันต่าง ๆ ในการพัฒนา เช่น หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย สามารถปฏิบัติภารกิจตรวจสอบอุปกรณ์การผลิตใต้ทะเล ทั้งโครงสร้างของฐานผลิตปิโตรเลียมและท่อส่งก๊าซธรรมชาติใต้ท้องทะเลลึก และหุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ใช้สำหรับตรวจสอบภายในท่อปิโตรเลียม และโดรน MPIO ที่ติดตั้งกล้องซูม 30 เท่า ทำให้สามารถตรวจสอบอุปกรณ์บนที่สูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากจะมีความคล่องตัวสูงและช่วยลดต้นทุน แล้วยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน และสนับสนุนการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย