กรุงเทพฯ 2 มี.ค. – ปตท.สผ.ห่วงประมูลเอราวัณ-บงกชล่าช้า กระทบวางแผนผลิตปิโตรเลียมไร้ความต่อเนื่อง เสี่ยงต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.ในฐานะบริษัทของรัฐที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ มีความเป็นห่วงหากการเปิดประมูล 2 แหล่งก๊าซที่หมดอายุสัมปทาน คือ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ล่าช้าออกไป 6 เดือน ถึง 1 ปี เพราะจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการวางแผนรักษาอัตราการผลิตก๊าซให้เกิดความต่อเนื่อง นับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเก่าหรือรายใหม่ที่จะเป็นผู้ชนะการประมูล จะต้องใช้เวลาเตรียมการวางแผนลงทุนสำรวจและผลิตเพิ่มประมาณ 4-5 ปีล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานเดิมจะสิ้นสุดอายุลงและจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต
“หากเปิดประมูลล่าช้า 1-2 เดือน จากที่รัฐประกาศจะเปิดประมูลจะเป็นช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากล่าช้าเป็นปีจะทำให้ความยืดหยุ่นในขั้นตอนดำเนินการต่าง ๆ แคบลง เช่น การสร้างบ้านที่เดิมต้องใช้เวลา 2 ปี แต่เหลือเวลาแค่ 3 เดือน ก็จะมีต้นทุนแพงขึ้น เพราะต้องเร่งรีบให้เสร็จ ซึ่งตอนนี้ผู้รับสัมปทานทั้งรายเก่าและรายใหม่ ควรจะต้องรู้ระยะเวลาที่ชัดเจนแล้ว” นายสมพร กล่าว
นายสมพร กล่าวว่า ขั้นตอนของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องใช้เวลาวางแผน ซึ่งการก่อสร้างแท่นและขุดหลุมผลิตจะต้องใช้ระยะเวลาในการเปิดประมูลว่าจ้างผู้รับเหมาประมาณ 1-2 ปี และใช้เวลาอีก 1-2 ปีในการผลิต ซึ่งปัจจุบันบริษัทพยายามบริหารจัดการอัตราการผลิตก๊าซในแหล่งบงกชให้เกิดความต่อเนื่องประมาณ 800-900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่หากใกล้ระยะเวลาที่สัมปทานเดิมจะหมดอายุลงก็จำเป็นต้องชะลอการลงทุน
ส่วนการที่มีผู้มองว่าประเทศไทยจะมีทางเลือกในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาทดแทน แต่เรื่องนี้ก็ต้องดูทิศทางของราคาแอลเอ็นจีและผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งก็มีการคาดการณ์ว่าราคาแอลเอ็นจีใน 5-10 ปีข้างหน้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า อีกทั้งแอลเอ็นจี ไม่มีคุณสมบัติที่จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การนำเข้าแอลเอ็นจีมาใช้ประโยชน์ยังเป็นการสูญเสียเงินออกนอกประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อก๊าซฯ จากอ่าวไทยมาใช้ประโยชน์ ภาครัฐยังได้ภาษีและค่าภาคหลวง รวมถึงเกิดการจ้างงานในประเทศ ซึ่งปัจจุบันแหล่งบงกชมีการจ้างงานโดยตรงประมาณ 600 คน และหากร่วมธุรกิจต่อเนื่องจะเกิดการจ้างงานกว่า 1,000 คน โดยตลอดระยะเวลา 24 ปีที่แหล่งบงกชดำเนินการผลิตก๊าซ มีรายได้ส่งเข้ารัฐในรูปแบบภาษีและค่าภาคหลวง สะสมไม่ต่ำกว่า 240,000 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย