กรุงเทพฯ 23 เม.ย. – ปตท.สผ. ประกาศพร้อมประมูล แหล่งบงกช-เอราวัณ หลังที่ประชุม กพช. มีมติรับทราบการเปิดประมูล
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ได้รับทราบการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ ว่า ปตท.สผ. ยินดีที่ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งที่จะหมดอายุสัมปทาน เนื่องจากทั้ง 2 แหล่งมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศไทย โดยมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ
ในฐานะที่ ปตท.สผ. ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวแทนของรัฐในการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และมีภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ปตท.สผ. จึงจะเข้าร่วมในการประมูลครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยมั่นใจว่าประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งบงกชซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการมาถึง 20 ปี ทำให้บริษัทมีความเข้าใจลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งเป็นอย่างดี รวมถึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และหาก ปตท.สผ. ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการต่อ จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีการหยุดชะงักในการผลิต รวมทั้งสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับภาครัฐได้มากกว่า
การประมูลในแหล่งบงกช บริษัทมีแผนจะเข้าประมูลร่วมกับผู้ร่วมทุนรายเดิม (บริษัท โททาล อีแอนด์ พี ไทยแลนด์) เนื่องจากเป็นพันธมิตรในการลงทุนที่ดี สามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่มีร่วมกันในการพัฒนาแหล่งบงกชได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ. มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากเดิม โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ดำเนินการปัจจุบัน (เชฟรอน) และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมประมูลในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้
ส่วนหลักเกณฑ์ TOR ที่ภาครัฐเตรียมจะออกประกาศเชิญชวนประมูลนั้น ปตท.สผ. ขอดูในรายละเอียดต่อไป โดยเชื่อมั่นว่าภาครัฐจะพิจารณาจากการสร้างผลประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ประเทศเป็นหลัก และเชื่อว่าภาครัฐสามารถรักษาสมดุลโดยพิจารณาองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน เพื่อดึงดูดให้บริษัทน้ำมันเข้าร่วมการประมูล และสามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางพลังงานให้แก่ประเทศ . – สำนักข่าวไทย