ทำเนียบฯ 24 ส.ค.-ผลการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบ คาดแนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง พร้อมให้เสนอแผนเผชิญเหตุภาวะวิกฤติ แผนระบายน้ำเช่นเดียวกับเขื่อนแก่งกระจาน-ให้ส่งเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำให้ สทนช.ใช้ติดตามกำกับสถานการณ์น้ำ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการสร้างการรับรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ 4 ภูมิภาค และผลการดำเนินงานคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราว ซึ่งได้มีการประชุมวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ทุกวัน พร้อมทั้งมีการออกประกาศสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ออกประกาศไปแล้วถึง 7 ฉบับ และให้มีการรายงานสภาพภูมิอากาศและการคาดการณ์ เป็นรายวันกรณีปกติ ราย 3 ชั่วโมงกรณีเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ และรายชั่วโมงกรณีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น นอกจากนี้ ยังสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบระบบโทรมาตรให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. พิจารณาติดตั้งระบบโทรมาตรวัดน้ำฝนบริเวณพื้นที่ต้นน้ำสำคัญ ๆ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เช่น เขื่อนแก่งกระจาน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานด้วย
สำหรับในเรื่องสถานการณ์น้ำนั้น ที่ประชุมได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีความจุมากกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. โดยจะต้องคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า ปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น พร้อมให้เสนอแผนเผชิญเหตุภาวะวิกฤติ แผนระบายน้ำ เช่นเดียวกันกับกรณีเขื่อนแก่งกระจาน ตลอดจนแผนที่แสดงผลกระทบจากการระบายน้ำกรณีระบายน้ำปริมาณต่าง ๆ รวมทั้งให้บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน 80 % และมีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบส่งเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อใช้สำหรับติดตามกำกับต่อไป ซึ่งขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ รวมถึงมีระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) มีจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนน้ำอูน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนรัชชประภา ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุมากกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณเกินความจุ 80% มีจำนวน 3 แห่ง
พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำลงพื้นที่ให้คำแนะนำด้านเทคนิคการดูแลบำรุงรักษา และการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ติดตามรายงานสภาพน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้ สทนช. รวบรวมวิเคราะห์ และสรุปเพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ รวมทั้งให้ สสนก. จัดทำระบบฐานข้อมูลรายงานสภาพน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแบบออนไลน์ โดยให้ผู้รับผิดชอบแต่ละหน่วยงานเป็นผู้รายงานสถานการณ์
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า สภาพอากาศในช่วงวันที่ 24 – 29 ส.ค. 61 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มได้ ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชั่น โซนร้อนและไต้ฝุ่น) จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูก ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. และมีโอกาสสูงที่พายุจะเคลื่อนเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. มีโอกาสที่พายุจะเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนเข้าสู่บริเวณภาคใต้ อย่างไรก็ตาม แม้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งจะมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก แต่ก็มีอ่างเก็บน้ำจำนวนไม่น้อยที่มีปริมาณค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ที่ประชุมจึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำน้อยด้วย อาทิ แผนการทำฝนหลวงในพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีความจุน้อยกว่า 30% และขอให้เตรียมการจัดทำแผนการส่งน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย.-สำนักข่าวไทย