นนทบุรี 24 ส.ค. – กรมการค้าต่างประเทศประกาศพร้อมเปิดตัว eDFT เต็มรูปแบบรองรับโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 เพื่ออำนวยการค้าให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานเปิดสัมมนาเปิดตัว eDFT เต็มรูปแบบรองรับโมเดลเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 เพื่ออำนวยการค้า โดยกรมการค้าต่างประเทศได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปมีความพร้อมที่จะให้บริการด้านการค้าต่างประเทศด้วยระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบภายในปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าโดยส่งเสริมการสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจภาคการค้าและบริการให้กับผู้ประกอบการในทุกระดับอย่างครบวงจร และมุ่งมั่นสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัลหรือ “Smart Ministry” ภายในปี 2564
สำหรับรูปแบบให้บริการดิจิทัลครบวงจร หรือ eDFT มี 11 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบลงทะเบียนผู้ประกอบการ (e-Register) บริการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเพื่อขอบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2.ระบบตรวจสอบคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด (Rules of Origin Verification Systems : ROVERS) ให้บริการตรวจรับรองคุณสมบัติทางด้านถิ่นกำเนิดสินค้าที่ได้สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้กรอบความตกลงทางการค้า 3.ระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (e-CO) บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 4.ระบบการขึ้นทะเบียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) บริการขึ้นทะเบียนขอรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ได้แก่ Form D , Form A
5.ระบบฐานข้อมูลกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) และอัตราภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง FTAs ของอาเซียนและประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เพื่อให้บริการตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ FTAs 12 กรอบความตกลง 6.ระบบบริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้าทั่วไป (e-License) ให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 7.ระบบบริการมาตรฐานสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (OCS) บริการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ 8.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับระบบการบริหารการค้าสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (e-TCWMD) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งการขออนุญาตดำเนินกิจกรรมการค้า DUI และ/หรือการออกใบรับรองว่าสินค้าไม่เป็น DUI ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ 9.ระบบรายงานการส่งออก-นำเข้าสินค้า (e-Report) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการรายงานการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ไม่ต้องมารายงานฯ ด้วยตนเอง 10.ระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์การออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้ากับ National Single Window (NSW) เชื่อมโยงข้อมูลการออกหนังสือสำคัญต่าง ๆ กับกรมศุลกากร ผู้ประกอบการสามารถดำเนินพิธีการ ศุลกากรได้อย่างรวดเร็ว และ 11.ระบบ Asean Single Window (ASW) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้าระหว่าง National Single Window (NSW) ของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนตามพิมพ์เขียวเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) และมีการลงนาม MOU เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554
ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รองรับโมเดลเศรษฐกิจ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการปรับบทบาทจากยุคแรกที่เป็น “Controller หรือผู้ควบคุมกฎระเบียบทางการค้า” มาสู่ยุคที่ 2 เพื่อเป็น “Regulator หรือผู้กำกับดูแลรักษาผลประโยชน์ด้านการค้าต่างประเทศ” ต่อมาในยุคที่ 3 ได้พัฒนามาเป็น “Facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการไทย” ล่าสุดเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การค้าที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ได้ผันตัวเองมาเป็น “Mentor หรือพี่เลี้ยง” ที่พร้อมจะชี้แนะและให้คำปรึกษาทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าการนำระบบดังกล่าวมาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้จะทำให้เอกชนได้รับความสะดวกและรวดเร็วต่อการทำธุรกรรมด้านการค้าต่าง ๆ มากขึ้นได้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย