โรงแรมเอส ดี อเวนิว 16 ส.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถอดบทเรียนหลังปฏิบัติการกู้ภัยกรณีถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เตรียมเสนอรัฐบาลตั้งศูนย์อบรมด้านสาธารณภัย เพิ่มองค์ความรู้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานปิดการประชุมปฏิบัติการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review :ARR) กรณีการค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า ความจริงแผนกู้ภัยในระดับชาติมีอยู่แล้ว แต่จะให้สมบูรณ์จากเหตุการณ์นี้ต้องมีแผนปฏิบัติการแยกเป็นเรื่อง ๆ โดยละเอียด เช่น การดับเพลิงในที่สูง ต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องทำเป็นภาพออกมา และต้องมีการเตรียมการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในถ้ำ ส่วนระบบการแจ้งเตือนภัยนั้น ปัจจุบันมีขั้นตอน ตั้งแต่การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน แจ้งเหตุ และการอพยพประชาชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีความสำคัญ ทั้งการใช้อำนาจและการใช้งบประมาณ
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่าไม่อยากให้มีเพียงการแจ้งเตือนอย่างเดียว แต่หากประเมินแล้วว่าจะทำให้เกิดความเสียหาย ต้องมีคำสั่งห้าม เช่น กรณีมีคลื่นลมแรงในทะเล ต้องสั่งห้ามเรือออกจากฝั่ง ส่วนในพื้นที่ห่างไกล ก็มีหอกระจายข่าวทั่วประเทศ ทุกหมู่บ้าน ซึ่งอาจจะมีเสียบ้าง แต่ขณะนี้ให้ส่วนท้องถิ่นไปซ่อมให้ใช้การได้ นอกจากนี้ ยังมีไลน์แอดมหาดไทย และสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ที่ช่วยแจ้งเตือน ต้องทำให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้รับข่าวสารทั้งหมด” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
สำหรับโครงสร้างขององค์กร และโครงสร้างในการดำเนินการป้องกันภัยนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้มีการวางโครงสร้างไว้หมดแล้ว และมีการซ้อมแผนป้องกันทุกปี ทั้งนี้เตรียมเสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านสาธารณภัยให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความรู้ด้านการป้องกันและช่วยเหลือในเหตุภัยพิบัติ.-สำนักข่าวไทย