กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – กสิกรไทยมองวิกฤติค่าเงินตุรกีกระทบไทยทางอ้อม บั่นทอนความเชื่อมั่นตลาดเกิดใหม่ จับตาสงครามการค้า – เฟดขึ้นดอกเบี้ย
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา “ตามติดทิศทางค่าเงิน สถานการณ์เงินลงทุนและหุ้นเด่น” ว่า วิกฤติค่าเงินตุรกีมีผลกระทบทางอ้อมต่อประเทศไทย เนื่องจากบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อตลาดเกิดใหม่ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งนักลงทุนอาจจะมีเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าว แต่ผลกระทบคงไม่มาก เชื่อว่านักลงทุนน่าจะมีการคัดกรองว่าประเทศใดมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง หรือพึ่งพาเงินกู้จากสหรัฐอเมริกา เช่น ประเทศอาร์เจนตินา แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้ประสบปัญหาดังกล่าว พื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะแยกแยะได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าในวิกฤติยังมีโอกาส เพราะเมื่อนักลงทุนเทขายหุ้นและตราสารหนี้ราคาก็จะปรับตัวลง ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่ยังมีผลประกอบการดีและตราสารหนี้ที่มีเรตติ้งดีในราคาถูกได้
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ผลกระทบทางอ้อมอาจเชื่อมโยงมาที่จีน เนื่องจากตุรกีอาจจะขอรับความช่วยเหลือจากจีนและอาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้สหรัฐกดดันจีน ซึ่งมีข้อพิพาททางการมากขึ้นอาจส่งผลให้เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงอีก โดยขณะนี้ค่าบาทเมื่อเทียบกับเงินหยวนแข็งค่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.80 บาทต่อหยวน จากเดิม 5.00 บาทต่อหยวน หากเงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวนจะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันด้านท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนจะมาเที่ยวไทยน้อยลง
ส่วนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยคาดว่าในช่วง 2-3 เดือนจะเห็นผลกระทบต่อการส่งออกจีนชัดเจนขึ้น หลังจากมาตรการทางภาษีการค้ามีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด ) ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็น 4 ครั้งในปีนี้ จากเดิมคาด 3 ครั้ง เพราะในการประชุมล่าสุดเฟดไม่ได้กังวลผลกระทบเรื่องสงครามการค้าและเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวดี โดยเชื่อว่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่า ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่สิ้นปีเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามกรอบประมาณการเดิม .- สำนักข่าวไทย