บุรีรัมย์ 13 ส.ค. – แม้หลายจังหวัดภาคอีสานกำลังประสบปัญหาอุทกภัย แต่ที่บุรีรัมย์ กลับต้องเผชิญกับภาวะฝนทิ้งช่วงนานกว่า 2 เดือน ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำในจังหวัดมีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ แหล่งน้ำธรรมชาติตื้นเขิน นาข้าวที่อยู่นอกชลประทานเริ่มขาดน้ำยืนต้นแห้งตาย ติดตามจากรายงานของศูนย์ข่าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สภาพแหล่งน้ำธรรมชาติในหมู่บ้านไทรโยง ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ แห้งขอดแม้ก่อนหน้านี้มีฝนตกลงมาบ้าง แต่ปริมาณฝนน้อยทิ้งช่วง ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ บ้านไทรโยงอยู่นอกเขตชลประทาน ฝนคือความหวังเดียวของชาวนาที่นี้
นายเฮียะ หนูดี ชาวนาบ้านไทรโยง บอกว่า เริ่มหว่านข้าวเดือนมิถุนายน ปกติช่วงนี้ต้องใส่ปุ๋ย แต่ปีนี้ไม่มีฝนหรือน้ำขังในทุ่งนาเพียงพอที่จะใส่ปุ๋ยได้ ทำให้ต้นข้าวเริ่มเหี่ยวเฉา บางส่วนยืนต้นตาย แม้ก่อนหน้านี้มีการทำฝนหลวง แต่ฝนไม่ตกในพื้นที่เป้าหมาย
ชาวบ้านไทรโยงกว่าร้อยละ 50 มีอาชีพทำนา ทุกปีจะปลูกข้าวราว 800 ไร่ ปีนี้ลดพื้นที่ทำนาลงเหลือ 700 ไร่ เพราะฝนทิ้งช่วงเกรงผลผลิตเสียหาย
ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 16 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่าง 110 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ย 37% จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมด 291 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้น้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ฝนทิ้งช่วงและไม่ตกในพื้นที่รับน้ำ ยังส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูล ช่วง ต.สะแก และ ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ตื้นเขินจนเห็นสันดอนทรายเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีฝายยาง หรือเขื่อนกักเก็บน้ำ และหากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันปีนี้ระดับน้ำแม่น้ำมูลต่ำกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 3 เมตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีฝนตกในพื้นที่ จ.บุรีมย์ แต่ยังอยู่ในปริมาณที่น้อย. – สำนักข่าวไทย