กทม. 8 ส.ค.-มารู้จัก สปิลเวย์ (spillway) หรือเรียกอีกอย่างว่า ทางน้ำล้น โครงสร้างอาคารชลศาสตร์ที่สำคัญของเขื่อน ก่อสร้างด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้ควบคุมระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งต่างจากสันเขื่อน
จากข่าวน้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลายคนกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 7 ส.ค.61 ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากการระบายน้ำผ่านสปิลเวย์ เป็นทางระบายน้ำอีกช่องทางหนึ่งของเขื่อน กรณีน้ำในเขื่อนมีมากเกินปริมาณเก็บกัก ซึ่งไม่ใช่น้ำล้นสันเขื่อน ที่จะควบคุมอัตราการและทิศทางการไหลไม่ได้
สปิลเวย์ (spillway) หรือเรียกอีกอย่างว่า ทางน้ำล้น เป็นโครงสร้างอาคารชลศาสตร์ที่สำคัญของเขื่อน เนื่องจากก่อสร้างด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ด้วยการระบายน้ำส่วนเกินออกมายังท้ายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นตัวเขื่อน ซึ่งจะทำให้เขื่อนเกิดความเสียหาย ทางน้ำล้นบางประเภท จะมีประตูน้ำบานเลื่อนที่สามารถควบคุมระดับน้ำได้
• การระบายน้ำล้นผ่าน สปิลเวย์ เป็นระบบปกติ เพราะ สปิลเวย์ คือ ทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน โดยน้ำจะไหลไปตามทางน้ำที่ก่อสร้างไว้ สามารถควบคุมทิศทางได้
• ส่วนน้ำล้นเขื่อน หมายถึง น้ำล้นสันเขื่อน ถ้าน้ำล้นล้นถึงจุดนี้ จะควบคุมทั้งอัตราการไหลและทิศทางการไหลไม่ได้ จะถือเป็นอุบัติภัย
ทางน้ำล้นแบบควบคุมได้ (Controlled) ประกอบด้วยประตูน้ำบานเลื่อน เพื่อใช้ควบคุมอัตราการไหลของน้ำ การออกแบบจะออกแบบให้อ่างเก็บน้ำสามารถจุน้ำได้ปริมาณสูงสุด โดยสามารถปล่อยน้ำได้ตามความต้องการด้วยการควบคุม
ทางน้ำล้นแบบควบคุมไม่ได้ (uncontrolled) จะไม่มีประตูน้ำ เมื่อระดับน้ำในอ่างสูงจนถึงระดับที่ออกแบบไว้ จะไหลล้นผ่านสันฝายของทางน้ำล้น
• เขื่อนแก่งกระจาน เป็นเขื่อนดินแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ.2509 เป็นเขื่อนที่ไม่มีประตูระบายน้ำ หากระดับน้ำในอ่างเกินความจุต้องระบายผ่านทางระบายน้ำล้น หรือ สปิลเวย์ เท่านั้น
เขื่อนแก่งกระจานมีความจุ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และมีเขื่อนรองปิดช่องเขาอีก 2 เขื่อน ออกแบบไว้ให้สามารถรับน้ำเข้าได้มากถึง 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยคำนวณจากปริมาณน้ำฝนน้ำท่า 100 ปี ส่วนอัตราระบายออกสูงสุด 1,380 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เขื่อนแก่งกระจาน เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างเขื่อนด้วยภูมิประเทศที่เป็นเขา ไม่เหมาะจะทำประตูน้ำ และมีการศึกษาก่อนก่อสร้างแล้วว่า ไม่ได้มีน้ำปริมาตรมากไหลเข้าในคราวเดียวอยู่บ่อยๆ เมื่อน้ำถึงระดับเก็บกักจะไหลล้น สปิลเวย์ ออกสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นวิธีการระบายน้ำที่ปกติ เหนือสปิลเวย์ขึ้นไปยังมีพื้นที่รับน้ำจนถึงระดับสูงสุดซึ่งมี Emergency Spillway หรือทางระบายน้ำฉุกเฉินอีกชั้น ห่างกัน 3 เมตร รับน้ำได้มากถึง 190 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชลทั้งเขื่อน ทางระบายน้ำล้นจึงเพียงพอที่จะไม่ทำให้น้ำล้นถึงสันเขื่อนจนควบคุมการไหลของน้ำไม่ได้
• ตัวอย่างทางน้ำล้นแบบมีบานประตูน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ
• ทางน้ำล้นแบบไม่มีบานประตูน้ำ
เขื่อนน้ำอูน จ.นครพนม เป็นทางน้ำล้นแบบระฆังหงาย (Inverted bell) มักเรียกกันว่าทางระบายน้ำล้นแบบ Morning glory