ราชบพิธ 2 ส.ค. – หอการค้าไทยเผยดัชนีผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 82.2 สูงสุดรอบ 5 ปี เตรียมปรับเป้าจีดีพีเดือนสิงหาคมนี้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2561 ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.2 จากระดับ 81.3 สูงสุดในรอบ 62 เดือน หรือสูงสุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นมา โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนทุกรายการ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะกลับมาดีขึ้นตามลำดับต่อเนื่อง
ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.1 จากระดับ 67.9 สูงสุดในรอบ 42 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคอย่างมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน
สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นสูงขึ้น มีทั้งการที่ ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 7 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 ด้านการส่งออก 6 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกได้รวม 125,811.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.95 ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 3,455.59 ล้านบาท ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ส่วนปัจจัยลบ คือ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัวและสงครามการค้าโลก
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 100.2 จากระดับ 99.5 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดและเข้าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 62 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่ารายได้ของตนเองในอนาคตยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการจับจ่ายใช้สอยและผู้บริโภคมีความมั่นใจในการหารายได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการ ถือเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากปรับลดลงชั่วคราวในช่วง 2 เดือนที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นใกล้ระดับจิตวิทยา หรือที่ 30 บาทต่อลิตร แต่หลังจากที่รัฐบาลส่งสัญญาณตรึงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวสูงเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดี และพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้ของภาคเกษตรปรับตัวดี ทำให้คาดการณ์ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่าประชาชนเชื่อว่าจะเกิดการเลือกตั้งปีหน้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87.8 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยืนอยู่ได้ในระดับร้อยละ 1.5 ในไตรมาส 4 รายได้ภาคเกษตรมีทิศทางดีขึ้น ประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงเตรียมแถลงปรับตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ภายในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ คาดขยายตัวมากกว่า ร้อยละ 4.5 . – สำนักข่าวไทย