กรุงเทพฯ 30 ก.ค. – ศึกษาSEA โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้เดินหน้า กกพ.เห็นชอบใช้เงิน กองทุนรอบโรงไฟฟ้า 50 ล้านบาท มั่นใจได้คำตอบ “เทพา-กระบี่” ธ.ค.61
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่จะนำมาจัดจ้างที่ปรึกษาในการศึกษา SEA สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้วงเงิน 50 ล้านบาทแล้วคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ดำเนินการศึกษาได้ช้าสุดเดือนกันยายนนี้ โดยแนวโน้มในการให้ได้คำตอบว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาหรือไม่อาจจะล่าช้าจากข้อตกลงระหว่างนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ที่กำหนดกรอบ 9 เดือน หรือภายในเดือน พ.ย.นี้ก็อาจจะได้คำตอบภายใน เดือน ธ.ค.61
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะออกเงื่อนไข(TOR) เพื่อประกาศรับให้ผู้ที่สนใจมายื่นเป็นที่ปรึกษาโดย TOR จะยังคงกรอบระยะเวลาศึกษาเช่นเดิมคือ 9 เดือน การศึกษาจะต้องครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัดภาคใต้ตั้งแต่ พื้นที่ จ. ประจวบคีรีขันธ์ลงไป แต่ในช่วง 2-3 เดือนTOR จะระบุไว้ว่าจะต้องได้รับคำตอบในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลาก่อนว่าประชาชนในพื้นที่ยอมรับการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่
“หลักการสำคัญของSEA จะมีการปรึกษาสาธารณะเป็นการรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ว่าที่ใดยอมรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าฐาน(เชื้อเพลิงฟอสซิล) หรือจะเลือกประเภทเชื้อเพลิงใด โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทใด แนวทางจะต้องลากสายส่งจากภาคกลางไปป้อน หรือซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว หากต้องสร้างโรงไฟฟ้าพื้นที่จุดใดทางโครงการก็ต้องทำ EIA หรือ EHIA ตามกฏหมายต่อไป” นส .นันธิกา กล่าว
ว่าที่พันตรีอนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้กฟผ.ได้มีการศึกษาแนวทางเพื่อที่จะรองรับผลสรุปการศึกษาด้าน SEA กรณีที่ไม่สามารถเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาได้ โดยได้ศึกษาการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติว่าควรจะเกิดในพื้นที่ใดรองรับเช่น ที่ขนอม จ.นครศรีธรรมราช หรือจ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ศึกษาไว้เพียงเพื่อเป็นการรองรับหากSEA ออกมาว่าคนในพื้นที่ยอมรับจะได้เดินหน้าโครงการได้รวดเร็ว ส่วนในเรื่องของการจัดทำ SEA ต้องการให้ผู้คัดค้านและผู้ที่เห็นด้วยเปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นให้มากสุด และดูว่าคนในพื้นที่ยอมรับโรงไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร.-สำนักข่าวไทย