เปิดสาเหตุเขื่อนแตก! พิบัติภัยทำลายล้าง กลืนชีวิต-ทรัพย์สิน

อสมท 25 ก.ค.-กรณีเขื่อนแตก ที่ สปป.ลาว ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ผู้มีส่วนร่วมกับการสร้างเขื่อน ยืนยันเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เขื่อนร้าว-น้ำรั่วไหลไปยังพื้นที่ใต้เขื่อน สอดคล้องกับสถิติสาเหตุการพิบัติของเขื่อนในโลก ที่ส่วนใหญ่มักเกิดจากความเสียหายจากฐานรากเขื่อน


เขื่อนถูกพิจารณาว่า เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีปัจจัยอันตรายโดยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการทำลายล้างชีวิตพลเรือนและสิ่งแวดล้อมเมื่อเขื่อนแตก เหตุการณ์เขื่อนแตกนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่เมื่อเกิดแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง

หน่วยตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อนของสหรัฐ (U.S. Army Corps of Engineer’s National Dam Inspection Program) เผยเขื่อนจำนวน 4,906 แห่ง ซึ่งตรวจสอบในเดือน มี.ค. 1980 มีเขื่อนไม่ปลอดภัยอยู่ถึง 32% หรือ 1,563 เขื่อน โดยเขื่อนดินจะมีจำนวนการพิบัติมากกว่าเขื่อนประเภทอื่นและส่วนมากเกิดจากขั้นตอนการสำรวจและออกแบบ


ลักษณะการพิบัติของเขื่อน

1. การรั่วซึมของฐานรากและตัวเขื่อน

ตัวอย่างของการพิบัติในกรณีนี้ได้แก่ เขื่อน Teton ที่รัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1976 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน และทําให้มีการกระตุ้น ให้เกิดการออกกฎหมายด้านความปลอดภัยเขื่อนเพิ่มเติม ในกรณีของประเทศไทย ได้แก่ เขื่อนมูลบนที่มีการรั่วซึมผ่านฐานราก ในปี พ.ศ. 2533 แต่มีการแก้ไขได้ทันเวลาโดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ต่อมาได้ซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติ


2. การพิบัติจากน้ำล้นสันเขื่อน เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการพิบัติในอันดับต้นๆ สําหรับสาเหตุอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

-การคาดการณ์ทางอุทกวิทยาไม่เหมาะสม

-การเปิดปิดบานระบายน้ำล้นไม่ถูกต้อง

-มีการถล่มของดินลงในอ่างทําให้เกิดคลื่นใหญ่

-การออกแบบ Freeboard ไม่เหมาะสม

-การชํารุดของบานระบาย

-การปิดกั้นบานระบายน้ำเนื่องจากเศษวัสดุ 

3.การทรุดตัวต่างกันทําให้เกิดรอยแยกในตัวเขื่อน

เขื่อนและฐานรากประกอบด้วยวัสดุก่อสร้างที่เป็นดิน กรวด ทราย หิน หรือคอนกรีต วางอยู่บนฐานรากที่เป็นดินหรือหินตามธรรมชาติเมื่อมีแรงหรือน้ำหนักมากดทับหรือได้รับแรงจากแผ่นดินไหว ย่อมจะมีการเคลื่อนตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรุดตัวในแนวดิ่ง ถ้าการทรุดตัวเกิดขึ้นสม่ำเสมอก็ไม่ค่อยมีอันตราย แต่ถ้าเกิดขึ้นต่างกัน มักจะมีผลทําให้เกิดรอยแตกแยกขึ้นได้ทั้งผิวนอกของตัวเขื่อน ซึ่งสามารถเห็นได้หรือภายในตัวเขื่อนซึ่งยากต่อการตรวจพบ และยังอาจเป็นสาเหตุสืบเนื่องก่อให้เกิดการรั่วซึมของตัวเขื่อนได้ 

4. การเคลื่อนพังของลาดเขื่อนและฐานราก

การพิบัติลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยมีการบอกเหตุล่วงหน้าน้อยมาก และมักเกิดรวมกับการเปลี่ยนแปลงความดันน้ำภายในตัวเขื่อนหรือฐานราก


5. การพิบัติจากการกัดเซาะ

การพิบัติของเขื่อนยังอาจเกิดจากการกัดเซาะของคลื่น ที่พัดเข้ากระทบลาดเขื่อนเหนือน้ำ ส่วนการกัดเซาะจากน้ำฝนปกติจะป้องกัน ได้จากการปลูกหญ้า หรือทําหินเรียงคลุมไว้ แต่ถ้าดินมีลักษณะกระจายตัวในน้ำได้ง่าย (Dispersive Clay) ก็จะเกิดการกัดเซาะบนลาดเขื่อนได้มากจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายได้ ดังที่เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

6.  การพิบัติหรือเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวส่งผลต่อความมั่นคงของเขื่อนเนื่องจากสามารถก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ ทําให้เกิดแรงกระทําเพิ่มขึ้นในวัสดุตัวเขื่อน นอกจากนั้นยังอาจส่งผลต่อเขื่อนเนื่องจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนใกล้บริเวณเขื่อน


สถิติสาเหตุการพิบัติของเขื่อนในโลก อ้างอิงจากหนังสือ DAMS AND PUBLIC SAFETY ปี 2526 ไล่เรียงตามลำดับดังนี้ 

ความเสียหายจากฐานรากเขื่อนเกิดขึ้น 40% อาคารระบายน้ำล้นมีขนาดไม่เพียงพอ 23% การก่อสร้างไม่ดี 12% การทรุดตัวอย่างรุนแรง 10% แรงดันน้ำในตัวเขื่อนสูงมาก 5% เกิดจากสงคราม 3% การไหลเลื่อนของลาดเขื่อน 2% วัสดุก่อสร้างไม่ดี 2% การใช้งานเขื่อนไม่ถูกต้อง 2% และเกิดจากแผ่นดินไหว 1%

ส่วนกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางตะวันออกเฉียงใต้ของ สปป.ลาว พังเสียหาย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนร่วมกับโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้กล่าวในแถลงการณ์ยืนยันว่า เขื่อนที่มีความยาว 770 เมตร ได้รับความเสียหาย หลังจากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากไหลเข้าไปในบริเวณที่เก็บกักน้ำของโครงการทำให้เขื่อนร้าวและน้ำรั่วไหลไปยังพื้นที่ใต้เขื่อน ขณะที่เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บริษัทก่อสร้างของเกาหลีใต้ ซึ่งร่วมทุนในโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว เผยบริษัทฯ ตรวจพบโครงสร้างตอนบนของเขื่อน ได้รับความเสียหาย ก่อนเกิดรอยแตกที่สันเขื่อนในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา ยืนยันแจ้งทางการลาวและให้เริ่มขั้นตอนการเริ่มอพยพชาวบ้านที่อยู่ปลายน้ำ รวมทั้งพยายามซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเป็นอุปสรรคสำคัญ.-สำนักข่าวไทย

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : โครงการอบรม ความปลอดภัยเขื่อนในสภาวะปกติและสภาวะอันตราย เรื่อง “การพิบัติของเขื่อน” โดย ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์, รศ.ดร.วรากร ไม้เรียง ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://www.gerd.eng.ku.ac.th/Paper/Paper_Other/GERD_STAFF/บทความ_การพิบัติของเขื่อน.pdf

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

กระบะชนต้นไม้

สังเวย 7 ศพ กระบะหักหลบรถรับ-ส่งนักเรียน พุ่งชนต้นไม้

รถกระบะเสียหลักจะชนรถตู้รับ-ส่งนักเรียน คนขับตัดสินใจหักหลบ ทำให้รถพุ่งชนต้นไม้ เสียชีวิต 7 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4 คน

สลด! รถทัวร์พาผู้โดยสารกลับจากเที่ยวเบตง ชนต้นไม้ ดับ 8 ราย

รถทัวร์พาผู้โดยสารกลับจากเที่ยว อ.เบตง จ.ยะลา เสียหลักไถลลงร่องกลางถนนชนต้นไม้บนถนนสาย 41 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เบื้องต้นเสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก

ตักบาตรปีใหม่

ปชช.ร่วมตักบาตรวันปีใหม่ 2568 เพื่อความเป็นสิริมงคล

ประชาชนร่วมกิจกรรมตักบาตร​ รับปีใหม่ 2568 เนืองแน่น​ “สุดาวรรณ” เผยตัวเลขสวดมนต์ข้ามปี กว่า 12 ล้านคน พร้อมเชิญชวนสักการะพระเขี้ยวแก้ว ถึง 14 ก.พ.นี้

ข่าวแนะนำ

ผบก.น.3 เผยมี 26 คนจีนเข้าคอร์สตำรวจอาสา กว่าครึ่งจ่ายเงินจริง

ผบก.น.3 เผยมีคนจีน 26 คน เข้าคอร์สตำรวจอาสา กว่าครึ่งจ่ายเงินจริง กำลังไล่สอบเส้นเงินเข้ากระเป๋าใคร ส่วนตำรวจที่ไปอบรมน่าจะได้เงินค่าจ้างจริง

ดีเอสไอประชุมนัดแรกร่วม ตร.นครบาล 1 คดี “นพ.บุญ”

ดีเอสไอรับคดี “นพ.บุญ” กับพวกเป็นคดีพิเศษ เปิดประชุมนัดแรกร่วมตำรวจนครบาล 1 แย้มรู้พิกัด “หมอบุญ” ที่หลบหนีแต่ยังไม่ขอเปิดเผย

คนร้ายวางระเบิดตำรวจตั้งด่าน เจ็บ 6 นาย

คนร้ายวางระเบิดตำรวจขณะตั้งด่าน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บาดเจ็บ 6 นาย เด็ก 3 ขวบ เจ็บ 1 ราย เชื่อสร้างสถานการณ์ ก่อนครบรอบ 21 ปี ไฟใต้