ปปง.25 ก.ค.-ปปง.สั่งยึดทรัพย์กว่า 100 ล้านแม่ทีมและเครือข่ายบริษัท โอดี แคปปิตอล เผยพฤติกรรม อ้างระดมทุนทำธุรกิจค้าเงินตรา และกำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เลขาธิการ ปปง.เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ แม้แต่ญาติพี่น้องเพราะอาจเป็นเหยื่อต้มตุ๋นโดยไม่รู้ต้ว
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน บริษัท โอดี แคปปิตอล จำกัด กับพวก มูลค่ากว่า 100 ล้านบาทตามความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สำหรับพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดดังกล่าวคือ รวมกลุ่มบุคคลตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา ใช้ชื่อว่า บริษัท โอดี แคปปิตอล จำกัด จากนั้นก็ชักชวนให้ประชาชนร่วมลงทุนทำธุรกิจเก็งกำไร เช่น ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ร้านค้า จิวเวลรี่ เป็นต้น โดยมีการจัดทำและเสนอแผนการลงทุน ชักชวนประชาชนมาเป็นสมาชิก อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกที่ร่วมลงทุนในอัตราร้อยละ 5–10 ต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าปกติทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาตามสถานที่ต่างๆ เพื่อโฆษณาเชิญชวน สร้างความเชื่อมั่นและน่าสนใจ โดยอ้างว่าบริษัทกำลังเข้าตลาดหุ้นที่ต่างประเทศ ทำให้มีผู้สนใจร่วมลงทุนจำนวนมาก ผ่านทางแม่ทีมและเครือข่าย
แต่ต่อมาพบว่า บริษัท โอดี แคปปิตอล จำกัด กับพวก ไม่มีการจ่ายผลตอบแทนให้แก่สมาชิกตามที่อ้าง และสมาชิกไม่สามารถถอนเป็นเงินที่ลงทุนไปออกมาได้ ทำให้ได้รับความเสียหาย และจากการตรวจสอบยังพบว่าบริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาตอีกด้วย
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวมีผู้เสียหายมาร้องเรียนต่อสำนักงาน ปปง.จำนวน23 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 6,000,000 บาท บางรายมีหนี้สินจากการกู้หนี้ยืมสินไปลงทุน ทางสำนักงาน ปปง.เห็นว่าหากปล่อยให้กลุ่มผู้กระทำความผิด หลอกลวงประชาชนไปเรื่อยๆ จะเกิดความเสียหายต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจร้ายแรง จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที ขณะที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีอาญาแล้ว
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขอเตือนไปยังผู้กระทำผิดกฎหมาย ปปง. ที่คิดว่าสามารถหลบหลีกโดยการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปให้บุคคลที่ 3 ทำให้กฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เช่น กรณีนี้อ้างว่าได้โอนทรัพย์สินต่อไปให้กับแม่ข่ายระดับสูงกว่าไปแล้ว จึงไม่ทราบและไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริง คือ สำนักงาน ปปง. สามารถตรวจสอบเส้นทางทางการเงินหรือพยานหลักฐาน จนพบว่ามีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติ ซึ่งทางสำนักงาน ปปง. ก็สามารถดำเนินมาตรการยึดอายัดทรัพย์สินได้ตามกฎหมาย
“ฝากเตือนไปยังผู้กระทำความผิด ขอให้หยุดการกระทำเสีย แม้จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังไปบุคคลอื่น ปปง.ก็จะได้ตรวจสอบเพื่อนำทรัพย์สินกลับมาคืนผู้เสียหาย ตามนโยบายที่ว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้สุจริต ปปง.จะดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยกฎหมายฟอกเงิน”เลขาธิการ ปปง. กล่าว และว่า ขณะเดียวกันขอฝากไปยังประชาชนอย่าหลงเชื่อบุคคลใดก็ตามที่ชักชวนไปลงทุนที่ผิดกฎหมาย แม้แต่บุคคลใกล้ชิด พ่อแม่ ญาติพี่น้องก็ตาม เนื่องจากบุคคลดังกล่าวอาจหลงกลมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ และเชื่อว่าจะได้รับผลประโยชน์ที่สูง จึงพยายามหาเงินไปลงทุนเพิ่ม ควรสอบถามไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก่อนที่จะลงทุน .-สำนักข่าวไทย