รัฐสภา 20 ก.ค.-สนช.เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เป็นกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (20 ก.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งสิ้น 59 มาตรา มีการแก้ไข 16 มาตรา สาระสำคัญ คือ การจัดทำงบประมาณ ต้องคำนึงถึงฐานะการคลังของประเทศ ความจำเป็นในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายรัฐบาล และภารกิจของหน่วยงานรับงบประมาณ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
โดยสำนักงบประมาณจะเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการกำหนดนโยบายประจำปี สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายและฐานะทางการคลังของรัฐบาลอย่างน้อย 3 ปี
การอภิปรายของสมาชิกส่วนใหญ่ต่างติดใจกับการปรับแก้นิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในกฎหมายเดิมปี 2502 ในมาตรา 52 และ 53 ที่บัญญัติคำนิยามรัฐวิสาหกิจไว้ 4 ชั้น คือ บริษัทแม่ , ลูก ,หลาน , เหลน แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แก้ให้เหลือแค่ชั้นแม่ และลูกเท่านั้น ทำให้กังวลว่า บริษัทชั้นหลานและเหลนจะหลุดพ้นจากการตรวจสอบขององค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือไม่ อาจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ไม่หวังดี ที่จะทำให้ประเทศชาติต้องเสียประโยชน์ ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึง ความชัดเจนของคำนิยามที่อาจเชื่อมโยงกับกฎหมายฉบับอื่น จนจะกลายเป็นปัญหาการตีความในภายหลัง
ทั้งนี้ การอภิปรายตั้งข้อสังเกตของ สนช.ผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้ประธานต้องสั่งพักการประชุม 30นาที เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ให้มีการแก้ไขในบทเฉพาะกาล โดยให้แต่ละหน่วยงานต้องไปกำหนดคำนิยามตามภารกิจของตัวเองภายใน 5 ปี จากเดิมที่ระบุไว้ 3 ปี และในท้ายที่สุดที่ประชุมเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 178 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง .- สำนักข่าวไทย
