ทำเนียบฯ 16 ก.ค.-นายกฯ ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รับทราบผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติของ สนช. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมเสนอประเด็นสำคัญในการจัดทำแผนแม่บทแต่ละด้าน และถ่ายทอดเป้าหมาย-แนวทางยุทธศาสตร์ชาติลงสู่แผนระดับที่ 2 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 4/2561 โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศเบื้องต้น ซึ่ง สศช. ได้ประมวลผลผ่านระบบ eMENSCR โดยพบว่า ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2561 หน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงและเทียบเท่า จำนวน 19 หน่วยงาน รัฐสภาและหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กระทรวง จำนวน 5 หน่วยงาน ได้ส่งแผนงาน/โครงการ รวมทั้งสิ้น 6,456 แผนงาน/โครงการ โดยเป็นแผนงาน/โครงการที่มีความสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 3,211 แผนงาน/โครงการ
ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ภายใต้แนวคิด “สร้างไทยไปด้วยกัน” ภายใต้ 6 กลุ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้แก่ แก้จน สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก , แก้เหลื่อมล้ำ รายได้ โอกาส อำนาจ สิทธิ และศักดิ์ศรี , แก้โกง ทำห้องให้สว่างและบังคับใช้กฎหมาย , ปฏิรูปราชการ กระจายอำนาจ ลดขนาด อัตโนมติ , สร้างการมีส่วนร่วม และสร้างอนาคต ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการกิจกรรม โครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ที่ประชุมได้พิจารณาการเตรียมการจัดทำร่างแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้บรรลุ 20 เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งจะจัดทำ 1 แผนแม่บทต่อยุทธศาสตร์ และมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี โดยสามารถแบ่งช่วงระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 10 ปี โดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ ได้เสนอหัวข้อประเด็นสำคัญในการจัดทำแผนแม่บทแต่ละด้าน สรุปได้ ดังนี้ ด้านความมั่นคง ประกอบด้วย การรักษาความสงบภายในประเทศ , การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง , การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ , การบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ และการพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม
ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย การเกษตรสร้างมูลค่า , อุตสาหกรรมและบริการ , การท่องเที่ยว , โครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม , การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต , การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 , การตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย , การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี , การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และการเสริมสร้างศักยภาพการกีฬาในการสร้างคุณค่าทางสังคมและพัฒนาประเทศ
ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก , การปฏิรูประบบภาษีและการคุ้มครองผู้บริโภค , การสร้างหลักประกันสังคม (รวมประเด็นแรงงาน การศึกษา และสาธารณสุข) , เรื่องกระบวนการยุติธรรม , การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี , การเสริมสร้างพลังทางสังคม และการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งพาตนและจัดการตนเอง
ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมสีเขียว , สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล , สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ , พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง , พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงาน และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ประกอบด้วย บุคลากรภาครัฐ (คน) , ระบบ/กลไก และโครงสร้างภาครัฐ , การกระจายอำนาจ , กระบวนการยุติธรรม ,กฎหมาย และการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ทั้งนี้ที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเป้าหมายและแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติลงสู่แผนระดับที่ 2 และแผนงาน/โครงการในระดับต่าง ๆ ต่อไป โดยต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ ได้แก่ แผนงาน/โครงการที่จะบรรจุไว้ในแผนแม่บทฯ ต้องเป็นแผนงาน/โครงการที่มีความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ต้องกำหนดรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หรือหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่จะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการแต่ละกิจกรรม รวมทั้งต้องคำนึงถึงขีดความสามารถทางการเงินและการคลังของประเทศในการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ และพิจารณาภาพรวมการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้แผนแม่บทฯ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบการจัดทำแผนแม่บทฯ และการกำหนด Program Structure เพื่อแสดงความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นยุทธศาสตร์ แผนงานในระดับรองต่าง ๆ อาทิ แผนการปฏิรูประเทศ และหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งที่ประชุมได้เห็นชอบการมอบหมายให้ข้าราชการกลุ่ม ป.ย.ป. ของแต่ละกระทรวง เข้าร่วมการจัดทำแผนแม่บทฯ กับคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ สศช. โดยจะดำเนินการร่วมกัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Kick-off) ในวันที่ 6-8 สิงหาคม 2561 และดำเนินการเตรียมการจัดทำแผนแม่บทฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 และคาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีได้ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2561 ตามลำดับต่อไป.-สำนักข่าวไทย