นนทบุรี 13 ก.ค. – พาณิชย์มองสงครามการค้าเป็นโอกาสดีสินค้าไทย เตรียมประกาศปรับเป้าส่งออกปีนี้โตร้อยละ 9
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงสงครามการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 ขั้ว ที่ทำให้รูปแบบการค้าของโลกเปลี่ยนแปลงไป ว่า ไทยจำเป็นต้องปรับสินค้าตามความต้องการหรืออุปสงค์ที่เปลี่ยนไป ล่าสุดสหรัฐ ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึงร้อยละ 10 อีกกว่า 6,000 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะปิดรับฟังความคิดเห็นสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ และคาดว่าจะมีผลเดือนกันยายน ซึ่งจากการดูพิกัดรายการสินค้านอกจากจะมีสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีสินค้าเกษตรหลายรายการ ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรไทยในการทำตลาดเข้าไปทดแทน
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้ากระทรวงพาณิชย์ได้เชิญภาคเอกชนหารือประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากสงครามการค้าและปัจจัยลบต่อภาพรวมการส่งออก เช่น อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน เพื่อทบทวนปรับเป้าหมายการส่งออกใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 8 เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยและการหาตลาดใหม่ ๆ ดีขึ้นต่อเนื่อง เบื้องต้นตัวเลขส่งออกปีนี้น่าจะเป็นบวกร้อยละ 9 แต่คงจะไม่เป็นตัวเลข 2 หลัก หรือโตร้อยละ 10 เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้จัดทำดัชนีชี้วัดศักยภาพการนำเข้า 168 ประเทศทั่วโลก เพื่อใช้ในการปรับแผนการส่งออกของผู้ส่งออก และเป็นฐานข้อมูลภาครัฐในการกำหนดเป้าหมายการส่งออกเป็นรายสินค้าและแบบรายประเทศ โดยรวบรวมข้อมูลจาก 27 ตัวชี้วัด สะท้อนความสามารถในการนำเข้าของประเทศต่าง ๆ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การค้า เศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยเสี่ยงอื่น
ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับประเทศที่มีศักภาพการนำเข้าสูงสุด พบว่า จีนยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพนำเข้าสูงสุดอันดับ 1 เมื่อเทียบกับปี 2560 รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกาและอินเดีย ซึ่ง 10 อันดับแรก เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียถึง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และในจำนวน 10 อันดับแรกนี้ มีหลายประเทศที่ไทยยังส่งออกไปน้อย เช่น อินเดีย เยอรมนี และเกาหลีใต้ และผลการศึกษายังพบว่าจีนและเกาหลีใต้ มีความต้องการนำเข้าสูงในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การสื่อสาร ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่มีศักยภาพผลิตและส่งออก ดังนั้น การส่งเสริมการลงทุนจากจีน และเกาหลีใต้มาไทยในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกไปตลาดจีนและเกาหลีใต้มากขึ้น ขณะที่อินเดียมีจุดแข็งด้านเศรษฐกิจขยายตัวสูง และมีประชากรจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดสำคัญ คือ ภาษีนำเข้าสูงและมีระดับการเปิดประเทศต่ำ จึงควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในอินเดีย และสร้างพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดอินเดีย ได้แก่ น้ำมันพืช อัญมณี อุปกรณ์สื่อสาร และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งทางสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าจะนำผลศึกษาครั้งนี้เสนอไปยังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายช่วยผู้ส่งอออกปรับแผนการทำงานตามนโยบายการตลาดนำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ.-สำนักข่าวไทย