กรุงเทพฯ 4 ก.ค. – กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำฝายชะลอน้ำและทางเบี่ยงน้ำที่ผ่าฮี้ลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ถ้ำหลวงทางทิศใต้ของถ้ำได้วันละ 13,000 ลูกบาศก์เมตรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการนำเด็กๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมีออกมาให้ได้เร็วที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการสำรวจสภาพทางธรณีของลำห้วยผักตีนไฟ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน พบร่องรอยบริเวณที่คาดว่าน้ำไหลซึมเข้าไปภายในถ้ำ จำนวน 1 จุด มีอัตราน้ำไหลเข้า 100% อัตราน้ำไหลออก 50% และสอบถามภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น ทำให้คาดว่าน้ำน่าจะไหลเข้าโพรงที่คาดว่าเชื่อมต่อกับถ้ำหลวง ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเติมลงไปภายในถ้ำ เพื่อช่วยให้ระบายน้ำออกจากถ้ำหลวงให้รวดเร็วที่สุดจึงดำเนินการสร้างฝายชั่วคราวซึ่งสร้างเป็นฝายที่ 3 กั้นลำหัวยผาฮี้ บริเวณบ้านมูเซอผาฮี้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกับส่งนักธรณีวิทยาและวิศวกรปฐพีกลศาสตร์ ลงพื้นที่วิเคราะห์ด้านวิศวกรรม และประสานโครงการชลประทานเชียงราย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการกำหนดจุดสร้างฝาย จนเป็นผลสำเร็จและจะติดตั้งท่อบายพาสน้ำที่คาดว่าจะไหลลงสู่โพรงถ้ำอีกหนึ่งจุด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ต่อต่อไป หลังจากติดตั้งท่อบายพาสที่ฝายชั่วคราวห้วยผาฮี้แห่งที่ 3 ขนาด 4 นิ้ว ยาว 300 เมตร จำนวน 4 แถว จะสามารถเบี่ยงน้ำได้สูงสุด 34,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันสามารถป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงไปในโพรงถ้ำได้ประมาณ 13,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำทางเบี่ยงน้ำ หรือ Bypass น้ำ เพื่อสกัดกั้น และเปลี่ยนช่องทางไหลของน้ำให้พ้นจากแนวรอยรั่วเข้าถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนที่บ้านผาหมี ด้วยการทำฝายแห่งที่ 1 กั้นลำห้วยน้ำดั้น โดยใช้ท่อผันน้ำขนาด 4 นิ้ว ยาว 400 เมตร จำนวน 4 แถว ในการผันน้ำ ส่วนฝายแห่งที่ 2 กั้นลำห้วยผาหมี ใช้ท่อขนาด 4 นิ้ว ยาว 400 เมตร จำนวน 3 แถว เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย หน่วยซีล พร้อมทั้งหน่วยแพทย์ สามารถนำผู้ประสบภัยทั้ง 13 ราย ออกมาจากถ้ำหลวงได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด ซึ่งจนถึงขณะนี้ระดับน้ำในถ้ำหลวงได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง . – สำนักข่าวไทย