กรุงเทพฯ 3 ก.ค. – กกร.ปรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญขึ้น ทั้งส่งออก เงินเฟ้อและจีดีพีใหม่ หลังมั่นใจครึ่งหลังปีดี แม้จะมีหลายปัจจัยที่ยังกังวลอยู่บ้าง
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมได้มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจากที่ได้ติดตามจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐและการตอบโต้จากเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหภาพยุโรป เม็กซิโก แคนาดา อินเดีย ตุรกี เป็นต้น ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดเมื่อใด
อย่างไรก็ตาม กกร.ประเมินว่าผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและนานาประเทศ จะส่งผลกระทบจำกัดต่อการส่งออกของไทยในปี 2561 ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความต่อเนื่องเป็นแรงหนุนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กกร.จึงปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกปี 2561 จากเดิมร้อยละ 5.0-8.0 เป็นร้อยละ 7.0-10.0 จากมุมมองบวกขึ้นของการส่งออก และเชื่อว่าการส่งออกรายเดือนน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการเติบโตของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรเริ่มปรับตัวเป็นบวก ซึ่งน่าจะช่วยหนุนกำลังซื้อฐานรากให้ดีขึ้น
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนที่ทยอยฟื้นตัว ทำให้โดยรวมแล้ว กกร.จึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 จากเดิมร้อยละ 4.0-4.5 เป็นร้อยละ 4.3-4.8 และปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้น จากเดิมร้อยละ 0.7-1.2 เป็นร้อยละ 0.9-1.5 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 และคงต้องจับตาหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันในตลาดโลกและอีกหลายปัจจัยอีกด้วย
ส่วนมาตรฐานการบัญชี IFRS9 อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดทำการประเมินผลกระทบภาพรวมของประเทศ ดังนั้น กกร.จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการศึกษาวิจัยประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งนำเสนอมาตรการเยียวยา โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาวิจัยประมาณ 4-6 เดือน และนำเสนอผลต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) และหน่วยงานที่ดูแลเศรษฐกิจของประเทศเพื่อใช้ในการพิจารณาวันประกาศบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวต่อไป.-สำนักข่าวไทย