กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – ธนาคารโลกรายงานความมั่งคั่งโลก พบประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศรายได้สูงถึงร้อยละ 28 มุ่งเพิ่มศักยภาพคน ควบคู่กับบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
นายเควนติน วอดอน ผู้แทนจากธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกจัดทำรายงาน “การเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งแห่งชาติสู่การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน” โดยวิเคราะห์ข้อมูลความมั่งคั่งจากทั่วโลก 141 ประเทศ ในช่วงปี 2538 – 2557 พบว่าความยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว รายงานชิ้นนี้นำเสนอตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ โดยต้องคำนึงถึงความมั่งคั่งนำปัจจัย 4 ด้านมาพิจารณา ประกอบด้วย ทุนด้านการผลิต เช่น เครื่องจักร อาคารบ้านเรือน ที่ดินเป็นต้น ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์ และทุนต่างประเทศ เช่น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ธนาคารโลก มองว่า สามารถแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนระยะยาวและสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ ขณะที่จีดีพีแสดงถึงรายได้และผลผลิตของประเทศนั้น ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้สะท้อนว่าต้นทุนของประเทศนั้น ๆ ลดลงหรือเสื่อมถอยลงไปมากน้อยเพียงใดแล้ว
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าประเทศรายได้ปานกลางกำลังก้าวสู่ประเทศรายได้สูงถึงร้อยละ 28 จากเดิมที่ร้อยละ 19 โดยระหว่างปี 2538 – 2557 ความมั่นคงโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 จาก 690 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 1,143 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็นรายได้ปานกลางยังต้องระวังความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคม
จากการศึกษาพบว่าปี 2557ประเทศรายได้ต่ำพึ่งพาทุนทรัพยากรธรรมชาติถึงร้อยละ 27 ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงจะลดการพึ่งพาทุนทรัพยากรธรรมชาติ แต่จะหันมาเพิ่มการพัฒนาทุนด้านการผลิตมากขึ้น เน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พร้อมทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ฟื้นฟูป่าไม้ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่การเกษตร จะช่วยให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดีขึ้น ช่วยให้แรงงานมีงานทำ และประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีฝีมือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลกอย่างยั่งยืน โดยตลอดอายุการทำงานของแรงงาน 1 คน มีมูลค่าเฉลี่ย 108,654 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของความมั่นคงทั่วโลก โดยประเทศรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง กำลังเร่งพัฒนาต้นทุนมนุษย์และต้นทุนการผลิต โดยพบว่าอัตราการขยายตัวของประชากรลดลงและมีการศึกษาดีขึ้น ขณะที่ทั่วโลกแรงงานหลักยังเป็นผู้ชายมีสัดส่วนถึงร้อยละ 62 เนื่องจากได้ค่าแรงสูงกว่า ซึ่งการเร่งพัฒนาแรงงานหญิงนอกจากจะช่วยสร้างโอกาสทางการทำงาน ยังจะช่วยยกระดับความมั่งคั่งของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต
นายมนู สิทธิประศาสน์ รองผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD กล่าวว่า การเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจเอเชียส่งผลดีต่อประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางมีการพัฒนาดีขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังมุ่งเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่วนสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ มองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวเกี่ยวกับแนวคิดและต้นทุนของแต่ละประเทศมากกว่า. – สำนักข่าวไทย