นนทบุรี 2 ก.ค. – ราคาพลังงานที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการขยับตัวสูงขึ้นตาม รวมทั้งสินค้าเกษตรบางชนิดราคาสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2561ยังสูงขึ้นเป็นเดือน 12 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ 1.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ารายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.38 จากเดือนพฤษภาคมที่สูงร้อยละ 1.49 แต่ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน จากสินค้าในหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึงร้อยละ 12.90 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทและก๊าซรถยนต์และสินค้าหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 5.86 ตามอัตราภาษีที่สูงขึ้น รวมถึงสินค้าหมวดเคหะสถาน ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวสาร ปรับตัวสูงขึ้น ไปจนถึงอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ทั้งข้าวราดแกง อาหารตามสั่งก็ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากรายการสินค้าทั้ง 422 รายการ ที่นำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไป พบว่า มีสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น 217 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า พริกสด ทุเรียน และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ส่วนราคาสินค้าที่ยังทรงตัวมี 80 ราย และสินค้าที่ลดลง 125 รายการ เช่น อาหารสดบางรายการ ได้แก่ เนื้อหมู ไก่สด ไข่ไก่ รวมถึงน้ำมันพืชและสับปะรด เป็นต้น ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.97 ซึ่งได้มีการประเมินปัจจัยจากราคาพลังงานยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้ต้นทุนของราคาสินค้าเพิ่มสูง แต่ยังเชื่อว่าแนวโน้มราคาพลังงานน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน หรือราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ในกรอบ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่แนวโน้มอ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ทำให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 และไตรมาส 4 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมาอยู่ในกรอบร้อยละ 0.8-1.6 หรือค่าเฉลี่ยร้อยละ 1.2 จากเดิมคาดว่าจะอยู่ในกรอบร้อยละ 0.7-1.7. – สำนักข่าวไทย