กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – ก.เกษตรฯ เตรียมประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ กำหนดพื้นที่เพาะปลูก ทำประมง และเลี้ยงสัตว์ ตามแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ โดยให้ศึกษาความไปได้ในการใช้ พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงโดยระบุว่า ขณะนี้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสามารถอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจให้เกษตรกรเพาะปลูก ทำประมง และเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีปริมาณเหมาะสมและตามคุณภาพของดินได้หรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตสินค้าเกษตรล้นตลาดจนราคาตกต่ำ ได้แก่ ยางพารา สับปะรด กุ้งขาวแวนนาไม ที่ผ่านมาเมื่อเกษตรกรขาดทุนก็จะชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในรูปแบบจ่ายค่าชดเชย การประกันราคา การจำนำผลผลิตทางการเกษตร หรือรับซื้อในราคานำตลาด พบว่า บางปีใช้เงินช่วยเหลือสูงถึง 200,000 ล้านบาท
นายกฤษฎา กล่าวว่า มีนโยบายบริหารจัดการเกษตรกรรมแผนใหม่ โดยจะจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการดูแลให้ปริมาณผลผลิตไม่ล้นเกินความต้องการบริโภคและสามารถคาดการณ์ผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดแคลนได้ ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตรดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จึงสั่งการให้ข้าราชการที่รับผิดชอบผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ซึ่งเรียกว่ามิสเตอร์ เช่น มิสเตอร์ยางพารา มิสเตอร์สับปะรด มิสเตอร์กุ้งขาวแวนนาไม สำรวจและจัดทำข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลย้อนหลัง 3 ปี และคาดการณ์ผลผลิตในปีการผลิต 2561/2562 เพื่อเปรียบเทียบข้อมูล
นอกจากนี้ ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ ขอทราบความต้องการผลผลิตทางการเกษตรทั้งชนิดพืช ประมง และปศุสัตว์ทั้งข้อมูลปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ของทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลทั้งผลผลิตทางการเกษตรและความต้องการของตลาดนั้นจะนำมาจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรทำตามแผนที่วางไว้ ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรแต่ละชนิดในปริมาณที่เหมาะสมไม่ล้นตลาด รวมทั้งกำหนดพื้นที่ทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพดินและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตแบบแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรที่ตลาดยังขาดแคลน
นายกฤษฎา กล่าวว่า รัฐจะจัดสวัสดิการให้เกษตรกรที่ทำตามแผนการผลิตทางการเกษตรเป็นการช่วยเหลือและคุ้มครองเมื่อผลผลิตเสียหายจากโรค แมลง หรือภัยธรรมชาติ แต่จะไม่คุ้มครองผู้ที่ไม่ทำการเกษตรตามแผนการผลิตที่กระทรวงแนะนำ ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยใด ๆ ได้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังจะแก้ปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรและส่งเสริมให้อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ยั่งยืน โดยเร่งรัดให้ปลัดกระทรวงฯ ดำเนินการให้เสร็จในวันที่ 10 กรกฏาคมนี้.-สำนักข่าวไทย