รร.สุโกศล 18 มิ.ย. – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจับมือจุฬาฯ เตรียมพัฒนาพืชเศรษฐกิจไทย สู่อุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้ภาคการเกษตร 10 เท่า
นายสุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA กล่าวว่า NIA ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างและยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรที่สร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตร โดย “ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่” ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ โดยใช้จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่น ๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงานให้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์
ดังนั้น NIA โดย ABC Center จึงร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทยในพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน หากไทยสามารถผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Biorefinery Industry Complex ในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งประกาศมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตรสาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่อย่างจริงจังได้ จะเกิดผลดีทั้งช่วยกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปชีวมวล พร้อมขับเคลื่อนให้ไทยเป็นผู้นำของธุรกิจดังกล่าวได้ในภูมิภาค และยังจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และอ้อย ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก
นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องยกระดับการเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรม วิจัย และนวัตกรรม นำไปสู่การยกระดับการเกษตรและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านวิชาการ ความรู้ทางนวัตกรรม และมีประสบการณ์โดยเน้นหนักทางด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียม เทคโนโลยีปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และตระหนักถึงการลดลงของพลังงานฟอสซิล ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลกที่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่วิทยาลัยฯ จะมีบูรณาการความรู้ต่าง ๆ ที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนภาพจากโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ไบโอรีไฟเนอรี่ รวมถึงศึกษาแนวโน้ม ทิศทาง และความเป็นไปได้ในการพัฒนา เพื่อบ่งชี้แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย