กรุงเทพฯ 12 มิ.ย.-ศาลปกครองสูงสุดสั่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้เงินแก่ปู่ “คออี้ มีมิ” และชนกลุ่มน้อยคนละ 50,000 บาท หลังถูกรื้อและเผาบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่ “ปู่คออี้” และพวก ไม่มีสิทธิกลับไปเข้าอยู่ในป่าแก่งกระจานตามที่ร้องขอ
ปฏิบัติการเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานผลักดันชนกลุ่มน้อยออกจากป่า เพื่อป้องกันการบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยจนพื้นที่ป่าเสียหาย เมื่อปี 53 จนถึงปี 54 บานปลายจนถึงขั้นเจ้าหน้าที่สั่งรื้อและเผาบ้านชนกลุ่มน้อย กลายเป็นข้อพิพาทและฟ้องร้องดำเนินคดี โดยนายคออี้ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย กับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 55 เพื่อเรียกค่าชดเชยผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในป่าแก่งกระจาน อ้างว่าตั้งรกรากมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยจากประเทศเพื่อนบ้าน ศาลปกครองชั้นต้นตัดสินเมื่อปี 59 ว่าให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าสินไหมแก่ผู้ฟ้องทั้ง 6 คน คนละ 10,000 บาท
ผู้ฟ้องทั้ง 6 ยื่นอุทธรณ์ กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินในวันนี้ ให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องทั้ง 6 คน เป็นเงินคนละประมาณ 50,000 บาท ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา เนื่องจากเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจที่จะเลือกใช้มาตรการบังคับตามอำเภอใจ ส่วนที่ผู้ร้องขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยในป่าแก่งกระจานเช่นเดิม ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานจากทางการให้ครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ จึงไม่อนุญาต
หลังศาลตัดสิน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่จำเป็นต้องขอโทษ เจ้าหน้าที่ทำตามหน้าที่ และยอมรับหากจะต้องถูกสอบวินัยที่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินค่าชดใช้
ส่วนภรรยานายบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ ที่หายตัวไประหว่างเป็นพยานในคดีนี้ กล่าวว่า แม้ศาลมีคำตัดสินให้รัฐชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่ได้อนุญาตให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในป่าเช่นเดิม ก็รู้สึกเช่นเดียวกับปู่คออี้ คือเสียใจ และไม่มีความสุขที่ไม่ได้กลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม
คดีประวัติศาสตร์การพิพาทประเด็นสิทธิของชนกลุ่มน้อยกับเจ้าหน้าที่รัฐ วันนี้ผู้ฟ้องซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย มาฟังคำพิพากษา 3 คน เสียชีวิตไปแล้ว 1 คน และมีปัญหาด้านสุขภาพอีก 2 คน หนึ่งในนั้นคือ ปู่คออี้ ที่เป็นที่เคารพรักใคร่ของชาวบ้าน อายุกว่า 100 ปี และประเด็นพิพาทที่ยืดเยื้อ ยังทำให้ บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หายตัวไปนาน 4 ปีแล้ว โดยไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายหรือไม่.-สำนักข่าวไทย