สำนักงาน กกต.- รัฐบาลนัดถก กกต. 14 มิถุนายนนี้ คาดหารือเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง –ไพรมารีโหวต อาจต้องใช้ ม. 44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่า สำหรับการหารือนอกรอบระหว่าง กกต.กับรัฐบาล เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งและการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง ก่อนที่รัฐบาลจะนำไปถกกับพรรคการเมืองในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนั้น มีรายงานว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้นัด กกต.หารือในช่วงบ่ายวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ประเด็นที่จะมีการหารือ คือเรื่องของการแบ่งเขต และปัญหาการปฏิบัติของพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 นั้น ทางสำนักงาน กกต.ได้ทำข้อสรุปปัญหา อุปสรรค ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาเบื้องต้นในการประชุม กกต.วันพรุ่งนี้ (12 มิ.ย.) ก่อนที่จะมอบหมายให้พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นตัวแทนไปหารือกับรัฐบาล
ประเด็นปัญหาเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทางสำนักงาน กกต.ได้ศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ แล้ว เห็นว่ากฎหมายไม่เปิดช่องให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้ก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับ และหากรอไปถึงเวลาดังกล่าวโดยรัฐบาลไม่ปลดล็อคหรือแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ก็จะกระทบต่อการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง
ขณะที่ปัญหาของพรรคการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับการทำไพรมารีโหวต ก็จะมีการนำเสนอว่า ผู้สมัคร และพรรคการเมือง ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการแบ่งเขตอย่างไร และเมื่อรัฐบาลยังไม่มีการปลดล็อคคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 รวมทั้งแก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ก็จะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถหาสมาชิกในเขตนั้น ๆ เพื่อที่จะมาทำหน้าที่กรรมการสาขา หรือตัวแทนประจำจังหวัด ไม่สามารถประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อตั้งสาขาพรรค ตั้งตัวแทนประจำจังหวัด ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครได้ ประชุมเพื่อหามติว่าจะส่งกี่เขต ส่งแบบบัญชีรายชื่อเท่าไร เห็นชอบรายชื่อผู้สมัครที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาหรือไม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเชื่อว่าพรรคใหญ่ที่มีศักยภาพยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน
ส่วนพรรคตั้งใหม่ไม่อาจคาดการณ์เวลาได้ ดังนั้นหากรัฐบาลยังคงยึดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะให้มีการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก ก็จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งเร็ว ซึ่งก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตได้ก่อนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องมีการปลดล็อคหรือผ่อนคลายให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมในบางเรื่องที่ไม่ได้เป็นการหาเสียงเพื่อนำไปสู่กระบวนการทำไพรมารีโหวต .-สำนักข่าวไทย