กรุงเทพฯ 7 มิ.ย. – สถาบันอัญมณีฯ เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 4 เดือนไม่รวมทองคำ เพิ่มร้อยละ 6.46 มีเครื่องประดับทองเป็นดาวเด่นส่งออกเพิ่มขึ้น ตามด้วยแพลทินัม เพชร พลอย และเครื่องประดับเทียม
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปประเทศต่าง ๆ ในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 4,181.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.04 แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปจะมีมูลค่า 2,540.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46 ซึ่งถือว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะทองคำการส่งออกจะเป็นไปตามราคาตลาดโลก หากราคาสูงขึ้นก็จะมีการส่งออกมาก แต่หากราคาลดลงก็จะส่งออกน้อย
สำหรับสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.46 เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.69 เพชรเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.96 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.91 และเครื่องประดับเทียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.79 ส่วนเครื่องประดับเงิน ลดลงร้อยละ 1.84
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง เพิ่มร้อยละ 0.17 สหภาพยุโรป เพิ่มร้อยละ 8.75 สหรัฐเพิ่มร้อยละ 10.60 กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพิ่มร้อยละ 19.52 อินเดีย เพิ่มร้อยละ 29.67 ญี่ปุ่น เพิ่มร้อยละ 2.87 จีนเพิ่มร้อยละ 13.27 อาเซียน เพิ่มร้อยละ 1.57 รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่มร้อยละ 30.48 โดยตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นและน่าจับตา คือ สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐ ตะวันออกกลาง อินเดีย ญี่ปุ่น จีน อาเซียน บรูไน รัสเซีย และ CIS
สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่าจะยังคงส่งออกได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า แต่ต้องจับตาสงครามการค้าที่นำโดยสหรัฐที่นอกจากจะใช้มาตรการกับจีน ยังมีแนวโน้มใช้กับประเทศอื่น ๆ รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ และอียูที่เริ่มมีความตรึงเครียด ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและวางแผนรับมือและหากลยุทธ์ส่งออกใหม่ ๆ เพื่อช่วงชิงตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดคู่ค้าเดิมให้ได้ โดยขอให้ผู้ส่งออกหันมาใช้นวัตกรรมออกแบบสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนเอง รวมถึงเร่งบุกตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดี เช่น รัสเซียและกลุ่มประเทศในเครือรัฐเอกราช และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อีกทั้งควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้เพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย