กรุงเทพฯ 7 มิ.ย. – 3 องค์กรเผย 4 เดือนแรกส่งออกอาหารไทยยังขยายตัวดี แต่เงินบาทแข็งค่า ทำให้ส่งออกในรูปเงินบาทเติบโตเพียงร้อยละ 1.5 คาดทั้งปีส่งออกได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกอาหารไทยปี 2561 โดยกล่าวว่า การส่งออกสินค้าอาหารของไทยช่วง 4 เดือนแรกปี 2561 ขยายตัวสูงขึ้นมากในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในรูปเงินบาทขยายตัวต่ำมีปริมาณ 10.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 มีมูลค่า 318,577 ล้านบาท หรือ 10,103 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และร้อยละ 13.2 ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ไก่ มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าว สินค้าที่มีการส่งออกหดตัวลงทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ กุ้งและผลิตภัณฑ์สับปะรด เนื่องจากตลาดเกิดการแข่งขันที่รุนแรง สหรัฐนำเข้ากุ้งจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์มากขึ้น ส่วนสับปะรดไทยต้องเผชิญคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส่วนกลุ่มประเทศ CLMV ยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 15.4 รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียนเดิม สหรัฐอเมริกา แอฟริกา จีน สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง โอเชียเนีย สหราชอาณาจักร และเอเชียใต้ โดยตลาดที่มีการขยายตัวโดดเด่น คือ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 110.8 จากการส่งออกน้ำมันพืชไปยังประเทศอินเดียเป็นหลัก รองลงมา ได้แก่ จีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 จากการกลับมานำเข้ามันสำปะหลังจากไทย แอฟริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 จากการส่งออกข้าวเป็นหลัก และตลาดอาเซียนเดิมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 จากการส่งออกข้าว น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลังที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกอาหารไทย 6 เดือนแรกของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นมากในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในรูปเงินบาทขยายตัวต่ำ เพราะการแข็งค่าของเงินบาทยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าในช่วงดังกล่าว ประเมินว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 507,844 ล้านบาท หรือ 15,850 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และร้อยละ 10.3 ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทย 6 เดือนหลังของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการส่งออกเติบโตสูงกว่าครึ่งปีแรก ส่วนการผลิตและการบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ลดลง แนวโน้มการผลิตและการบริโภค คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรกเล็กน้อย ประเมินว่าจะมีมูลค่าส่งออก 562,156 ล้านบาท หรือ 17,150 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และร้อยละ 9.8 ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไทยทั้งปี 2561 การส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 1,070,000 ล้านบาท หรือ 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และร้อยละ 10.0 ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์ ตามลำดับ คาดว่าสินค้าที่จะขยายตัวดีในรูปดอลลาร์ ได้แก่ ข้าว ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป แป้งมันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ส่วนสินค้ากุ้ง น้ำตาลทราย และสับปะรด มีแนวโน้มส่งออกลดลง โดยครึ่งปีแรกภาคธุรกิจมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนครึ่งปีหลังการผลิตและการบริโภคจะถูกแรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การส่งออกครึ่งปีหลังจะคลายตัวจากการแข็งค่าของเงินบาท.-สำนักข่าวไทย