ทำเนียบรัฐบาล 4 มิ.ย. – รัฐบาลผลักดัน 5 โครงการ EEC คาดได้ผู้ชนะประมูลปีนี้ พร้อมเดินหน้าโรดโชว์ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ดึงร่วมลงทุนอีอีซีเพิ่ม คาด 5 ปีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพอ. ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กพอ.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) และเห็นชอบในหลักการการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และให้ กบอ.พิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายต่อไป
สำหรับ 5 โครงการสำคัญในพื้นที่พัฒนาอีอีซี ที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้สำเร็จในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ประกอบด้วย 1.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา 3.รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ดอนเมือง) 4. ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ 5.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมวงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท คาดจะสามารถเร่งรัดให้ได้ผู้ชนะการประมูลทั้ง 5 โครงการภายในปีนี้ หลังจากโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าลงทุน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งรัดการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้เชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงตรงเวลาและวางแผนการขยายตัวของเมืองรอบ ๆ ข้างให้เป็นระบบ
สำหรับโครงการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น อยู่ระหว่างปรับแก้แบบใช้พื้นที่ในภาพรวมของโครงการที่มีพื้นที่อยู่ 6,500 ไร่ เนื่องจากแบบรันเวย์ที่ 2 มีปัญหาพื้นที่ติดภูเขาและมอเตอร์เวย์ และคาดว่าเดือนมิถุนายนนี้จะออกแบบเสร็จแล้วเสนอรัฐพิจารณา และเปิดให้เอกชนร่วมทุนตามพื้นที่ที่สนใจภายในไตรมาส 4 ปี 2561
ด้านโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะเริ่มขั้นตอนเปิดประมูลเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งพื้นที่ตอนนี้ทางการบินไทยแจ้งขอใช้เพียง 210 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 570 ไร่ ทำให้มีพื้นที่เหลือ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะเปิดกว้างให้เอกชนที่สนใจลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานได้เลย จากเดิมจะให้การบินไทยทำก่อนเป็นระยะที่ 1 และอาจจะเปิดให้เอกชนรายอื่นลงทุนระยะที่ 2 ซึ่งขณะนี้มีเอกชนแสดงความจำนง 4 –5 ราย เช่น แอร์เอเชีย นักลงทุนอเมริกา และจีน เป็นต้น ขณะที่ความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ในพื้นที่อีอีซีนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการโดยจำเป็นต้องประกอบด้วย 6 ลักษณะ ได้แก่ ชุมชนอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ และการบริหารจัดการอัจฉริยะ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ มีกำหนดการเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-25 มิถุนายนนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสานต่อสัญญาความร่วมมือที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามร่วมกับบริษัทแอร์บัส เพื่อประเมินโอกาสธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลก ซึ่งลงนามตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 นอกจากนี้ จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดโรดโชว์ชักจูงนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ให้เข้ามาลงทุนในอีอีซีเพิ่ม คาดว่าในช่วง 5 ปีนับจากนี้การลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะมีการลงทุนรวมสูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ. – สำนักข่าวไทย