รัฐสภา 4 มิ.ย.- สนช.จัดสัมมนาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ยอมรับกังวลที่ต้องจัดทำงบให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะแล้วเสร็จเดือน ก.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการวิชาการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า และสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า จัดสัมมนา เรื่องร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และข้อเสนอแนะบางประการในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา
นายพรเพชร กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ถือเป็นภารกิจสำคัญของสนช. ในการพิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินมิให้เกิดความซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่หลากหลายและ ครอบคลุมทุกมิติ
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. บรรยายพิเศษเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จะต้องจัดทำผ่านกฎหมาย 3 ฉบับประกอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยเฉพาะในมาตรา 142 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งบัญญัติให้ การเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องแสดงแหล่งที่มาและประมาณการรายได้ และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยการคลังของรัฐ
รองประธาน สนช. กล่าวว่า เบื้องต้นยอมรับมีความกังวลในการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ชาติเข้าสู่การพิจารณาของสนช.หลังร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เพราะฉะนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ในการพิจารณาการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคาดว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
นายภูมิรักษ์ ชมแสง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าว ถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายงบประมาณปี 2562 ว่า ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ๆ มีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน ทั้งนี้ได้จัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง และความจำเป็นของการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์และมิติพื้นที่.-สำนักข่าวไทย