ศธ.30พ.ค.- กระทรวงศึกษาฯ แถลงพบทุจริตเพิ่ม 3 ประเด็น ‘ทำฎีกาลอย-ผู้บริหารขอส่วนแบ่งงบฯ-ล็อคสเปคอุปกรณ์การเรียน’ สั่ง สพฐ.สืบสวนเร่งด่วน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาฯ แถลงผลการดำเนินการปราบปรามการทุจริตภายในกระทรวงฯ ว่า ภายหลัง พล.ท.โกศล ลงพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 11 จังหวัด พบปัญหาการกระทำการทุจริต 3 ประเด็น ได้แก่ พบเจ้าหน้าที่พัสดุ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเขต 5 จ.นครราชสีมา เบิกจ่ายเงินจัดซื้ออุปกรณ์กับโรงเรียนซ้ำซ้อน คือ เบิกจ่ายแล้ว 1 ครั้ง ก่อนจะใช้ข้อมูลรายละเอียดการจัดซื้อเดิมไปเบิกจ่ายอีก โดยเปลี่ยนเพียงชื่อโรงเรียน และพื้นที่เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการเขียนฎีกาลอยขึ้นมา ก่อนหมดปีงบประมาณ เพื่อเบิกเงินซ้ำ โดยพบมีกรณีนี้เกิดขึ้นในโรงเรียน 2 แห่ง เบิกจ่ายซ้ำ 80,000 บาท และ 300,000 บาท ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รวมถึงพบการเขียนฎีกาลอยใน 2 แห่งนี้มากถึง 57 ฎีกา โดยกรณีนี้จะมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรงเลย โดยไม่ต้องรอ เพราะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ากระทำความผิด
ประเด็นต่อมา พบเจ้าหน้าที่ในสังกัด ศธ.เรียกเก็บเงินเปอร์เซ็นต์จากผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ทุกครั้งจะเรียกเงินเปอร์เซ็นต์ร้อยละ 5 จากงบประมาณที่โรงเรียนจะได้รับ และอีกร้อยละ 5 หลังจากได้งบประมาณแล้ว ซึ่งผู้อำนวยการจำเป็นต้องให้ เพราะกังวลว่าจะถูกตัดงบประมาณ โดยจะมีการติดต่อจากประธานกลุ่ม จึงเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เป็นเครือข่าย ซึ่งขณะนี้ในปีงบประมาณ 2562 มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าร้อยละ 10 ซึ่งกรณีนี้ มีพยานหลักฐานจากการสอบปากคำของผู้อำนวยการโรงเรียน หลักฐานเอกสาร และวิดีโอชัดเจน ทำให้ต้องตั้งกรรมการสอบสวนจากส่วนกลางลงไป
และกรณีสุดท้าย เป็นการร้องเรียนจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ยโสธร ที่ได้รับการล็อคสเปคอุปกรณ์การเรียน ทำให้มาขยายผลต่อ จนพบมีการทำสัญญาจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา 600,000 บาทต่อแห่ง เมื่อปลายปี 2560 จำนวน 458 แห่ง รวมงบประมาณ 279 ล้านบาท แต่เมื่อตรวจสอบพบมีจำนวนโรงเรียนเพิ่มเข้ามาเป็น 600 แห่ง บางโรงต้องการอุปกรณ์เสริมสร้างทักษะพิเศษ บางโรงไม่ต้องการแต่ถูกบังคับ เพราะกังวลว่าจะถูกตัดงบ บางโรงได้รับการจัดซื้อที่ไม่ตรงตามความต้องการ เช่น ได้รับรถไถนา แต่โรงเรียนไม่มีพื้นที่สำหรับไถนา
ทั้งนี้ ปัญหานี้มีการตั้งงบประมาณมานาน 2 ปีแล้ว แต่เพิ่งมีการอนุมัติ และยังไม่มีการเบิกจ่าย ซึ่งตามระเบียบงบประมาณจะถูกตัดไปในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ไม่ทันการณ์แล้ว กรณีนี้ถือเป็นการหมกเม็ด ดังนั้นจะต้องหาผู้รับผิดชอบเพราะมีโรงเรียนจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์นี้เพื่อการเรียนการสอนจริงๆ โดยหลังจากนี้ เมื่องบประมาณ 279 ล้านบาท กลับคืนสู่รัฐ อาจมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่าสามารถนำงบประมาณส่วนใดช่วยได้บ้าง
ทั้งนี้ จากการพบทุจริตทั้ง 3 กรณี ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ดำเนินการสืบสวนเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล .-สำนักข่าวไทย