ก.คมนาคม 27 พ.ค. – กระทรวงคมนาคมตรึงค่าโดยสารทั้งรถเมล์-รถไฟ-เรือ เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ส่วนเครื่องบินโครงสร้างราคาผันแปรตามน้ำมันตลาดโลกที่สายการบินทั่วโลกปฏิบัติ
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่ชัดเจนในการตรึงอัตราค่าบริการทั้งในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ ที่เป็นของรัฐ ไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้ชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารที่ให้บริการทั้งในส่วนของรถร่วม องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ให้บริการในกรุงเทพมหานครและรถร่วม บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่ให้บริการระหว่างจังหวัด ตลอดจนผู้ประกอบการเรือโดยสาร ขณะนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีและเสียสละจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการดูแลอัตราค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้สูงขึ้นในขณะนี้ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบให้หาแนวทางมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านอื่น ๆ ต่อไป
ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอขอปรับค่าบริการรถไฟชั้น 3 ต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ภายใต้แผนฟื้นฟูนั้น เป็นเพียงผลการศึกษาในการฟื้นฟูกิจการรถไฟฯ ไม่ได้ปรับค่าโดยสารชั้น 3 มาโดยตลอดระยะเวลา กว่า 30 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น และไม่มีผลในการปฏิบัติขณะนี้แต่อย่างใด เนื่องจากการปรับค่าโดยสารชั้น 3 ยังไม่มีการเสนอคณะกรรมการบริหารรถไฟให้ความเห็นชอบ ดังนั้น จึงไม่ใช่ความจริงที่จะปรับขึ้นราคาในเวลานี้
นายสรพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของการปรับราคาค่าโดยสารของสายการบินไทยเที่ยวบินระหว่างประเทศนั้น ขอชี้แจงว่าโครงสร้างราคาค่าโดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศมีโครงสร้างราคาที่แปรผันตามโครงสร้างราคาน้ำมันตลาดโลกที่เป็นโครงสร้างราคาที่เป็นสากลทั่วไปที่สายการบินพาณิชย์ทั่วโลกปฏิบัติ ซึ่งน้ำมันตลาดโลกลดลงในช่วงเวลาที่ผ่านมาค่าโดยสารมีราคาลดต่ำลง ดังนั้น กระทรวงคมนาคมและ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะร่วมมือกันไม่ให้ค่าแปรผันราคาน้ำมันมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของในประเทศตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป.-สำนักข่าวไทย