กระทรวงการคลัง 24 พ.ค. – คลังขยับเป้าหมายจีดีพีปี 61 ขยายตัวร้อยละ 4.5 สูงสุดในรอบ 6 ปี หวังการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อน ไม่ห่วงราคาน้ำมันแพงเป็นเพียงช่วงสั้น รัฐเดินหน้าหลายโครงการไทยนิยม บัตรสวัสดิการ ภาพรวมมองว่าดีจะส่งผลไปยังรายย่อยช่วงต่อไป
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกร้อยละ 4.8 เพราะหลายปัจจัยมีทิศทางดีขึ้น จึงปรับเป้าหมายจีดีพีทั้งปีจากร้อยละ 4.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 4.5 ในปีนี้ นับว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ 2554 ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยมองว่าการลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 จากการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเป็นหลักสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนภาคเอกชนมากกว่าร้อยละ 3.8 ค่าเงินบาทอ่อนลงกว่า 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1.4 น้ำมันดิบดูไบ จึงคาดว่าจะมีราคาสูงกว่า 66.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล การส่งออกขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 8 เพราะเศรษฐกิจตลาดโลกดีต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยที่น่าเป็นห่วงจากแนวโน้มราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นขณะนี้ มองว่าเป็นการขยับสูงขึ้นไม่นาน เพราะเป็นปัญหาจากการขนส่งน้ำมันและจะเป็นเพียงช่วงสั้น เนื่องจากการคว่ำบาตรเวเนซุเอล่าคงทำได้ยาก รวมทั้งการคว่ำบาตรอิหร่าน เพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่ มองว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นลงทุนเพิ่มตามมา และเมื่อรัฐบาลมุ่งเน้นขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน การดูแลผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้มีแรงผลักดันไปยังรายย่อยและชนบทมากขึ้นในช่วงต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมองว่าเมื่อปัจจัยต่างประเทศคลายความกังวลอย่างมาก เพราะความขัดแย้งสงครามทางการค้าสหรัฐกับจีนลดแรงกดดันลงมา เนื่องจากมีการเจรจากันเพิ่มเติม เกาหลีเหนือยกเลิกทดสอบนิวเคลียร์อย่างชัดเจน และความสัมพันธ์เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ดีขึ้นมาก ประเทศพันธมิตร ฝรั่งเศส และอังกฤษไม่ร่วมการค่ำบาตรอิหร่านในการเปิดประเทศ เมื่อเศรษฐกิจไตรมาสแรกของสหรัฐโตร้อยละ 2.9 ถือว่าสูงมาก จีนขยายตัวร้อยละ 6.8 ถือว่าเติบโตต่อเนื่อง สิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 4.4 ถือว่าเป็นปัจจัยบวกมาก เพราะค้าขายกับทั่วโลก ปัจจัยนอกประเทศจึงไม่น่ากังวล
ขณะที่สถาบันจัดอันดับมูส์ดี้ได้เข้ามาสอบถามข้อมูลจากหลายหน่วยงาน เพื่อทบทวนอันดับเครดิต นับว่ามีทิศทางเป็นบวกมากขึ้น เพราะมองว่าการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากกว่าที่ผ่านมา จึงมองว่าปัญหาการเมืองของไทยไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง ขณะนี้ฐานะทางการคลังเข้มแข็งมาก การลงทุนมีเสถียรภาพ อันดับเครดิต BBB+
นางสาวกุลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณี IMD ปรับลดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านประสิทธิภาพภาครัฐ จากอันดับ 20 เป็น 22 เพราะพิจารณาตัวเลขทางเทคนิคเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณ เนื่องจากปี 2559 ไทยมีรายได้พิเศษจากการประมูลคลื่น 3 จีและ 4 จี เมื่อเทียบกับปี 2560 จึงมองว่าขาดดุลและการขาดดุลงบประมาณ เพื่อต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสอดคล้องกับมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เห็นด้วยกับการขาดดุลงบประมาณด้วยการการลงทุนภาครัฐพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ จึงเป็นมุมมองขององค์กรระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน .-สำนักข่าวไทย