ทำเนียบฯ 21 พ.ค.-ที่ประชุม กนช.เห็นชอบ 5 แผนงานของโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนรับสถานการณ์น้ำหลากในทุกจังหวัด
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2561 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนงานสำคัญ ๆ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานโครงการและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ซึ่งงบประมาณบูรณาการด้านน้ำ ปี 2562 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 63,271 ล้านบาท แต่ยังมีบางหน่วยงานนำเสนอแผนงานด้านน้ำเพื่อขอรับงบประมาณจากแหล่งเงินอื่น ๆ ที่ประชุมจึงมีมติให้ สทนช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและโครงการจากทุกแหล่งเงิน เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับแผนงานอื่น
นายสมเกียรติ กล่าวว่า 2.การขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ปี 2562-2565 ที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมด 30 โครงการ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำรวมทั้งหมดได้ 4,320 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 4.5 ล้านไร่ 3.โครงการระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก วงเงินประมาณ 210.82 ล้านบาท โดยให้ จ.หนองบัวลำภู ไปดำเนินการปรับแผนใช้เงินเหลือจ่ายของหน่วยงานในเบื้องต้นก่อน แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้งบกลางให้ประสานกับสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า 4.การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2550 โดยให้ สทนช.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และ 5.การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยให้ สทนช.เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายในการประสานงานการบริหารจัดการน้ำกับองค์การนานาชาติ และกระจายภารกิจที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานอย่างเป็นเอกภาพ
นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในปีนี้ ที่ประชุมได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยให้ สทนช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภาคประชาชน ในปีนี้ สทนช.เตรียมจัดงาน “การเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลาก ปี 2561” ในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การบูรณาการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากปีนี้
ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งน้ำจำนวน 44 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณการกักเก็บเกินกว่าร้อยละ 80 ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้ระบายน้ำออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ด้านการเพาะปลูกควบคู่กัน ซึ่งคาดว่าภายในต้นเดือนมิถุนายน จะทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำทั้ง 44 แหล่ง มีปริมาณการกักเก็บน้อยกว่า ร้อยละ 80 ส่วนสถานการณ์การเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ มีการเพาะปลูกแล้วเต็มที่พื้นที่ ขณะที่พื้นที่ 12 ทุ่งท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้วกว่า ร้อยละ 26 ของพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ดังนั้นพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกว่า 1.5 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกไปแล้วร้อยละ 45 คาดว่าต้นเดือนมิถุนายนนี้จะมีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่
“นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในทุกพื้นที่ โดยกำหนดสร้างทางเลือกที่จะครอบคลุมสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อทำให้ทราบว่าตั้งแต่มิถุนายน-ตุลาคม พื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งผลการวิเคราะห์จะให้ผลในทุกมิติ ทั้งเรื่องช่วงเวลาและปริมาณน้ำที่จะล้นตลิ่ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้กรมชลประทานเพิ่มเรื่องการวิเคราะห์พายุที่จะเข้ามามีผลกระทบกับพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย