ก.คมนาคม 27 ก.ย. – นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงประเด็นคณะรัฐมนตรียกเลิกมติ ครม.เดิมปี 2526 และปรับสถานะให้ ขสมก.ทำหน้าที่เดินรถอย่างเดียวและในอนาคตรถร่วมเอกชนจะต้องขออนุญาตประกอบกิจการกับกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น โดยขณะนี้จากการตรวจสอบข้อมูล ขสมก.พบว่าเอกชนที่ขออนุญาตเดินรถจาก ขสมก.ที่เป็นคู่สัญญาเดิม ปัจจุบันมี 111 สัญญา ในอนาคตต้องขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกใหม่ กระทรวงคมนาคมย้ำว่าแนวทางให้กรมการขนส่งทางบกกำกับดูแลนั้นจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์มากที่สุดโดยเฉพาะปัญหาการร้องเรียนคุณภาพบริการที่รถร่วมมักโดนประชาชนผู้ใช้ร้องเรียน โดยในอนาคตกรมการขนส่งทางบกจะวางหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานตัวรถ การฝึกอบรมพนักงาน สภาพคล่องและฐานะบริษัท
นอกจากนี้ หนี้ค้างชำระที่ผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนเดิมติดค้างค่าเที่ยววิ่งของ ขสมก.ตั้งแต่ปี 2550 ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกใช้เป็นหลักเกณฑ์พิจารณาว่าหากมีเอกชนรายใดค้างชำระหนี้ ขสมก.พิจารณาว่ามีความเหมาะสมที่จะออกใบอนุญาตใหม่ให้หรือไม่
ทั้งนี้ การดำเนินการเรื่องสัญญารถร่วมบริการจะใข้แนวทางหากเอกชนรายใดมีสัญญาที่หมดลงก่อนปี 2561 ให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาการต่อใบอนุญาตเป็นรายปี แต่หลังปี 2561 เป็นต้นไปทุกสัญญาที่มีจะพิจารณานำกฎหมายพิเศษเพื่อทำการยกเลิกทั้งหมด หรือเซ็ตซีโร หลังจากนั้นกรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาออกใบอนุญาตใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะมีระยะเวลาประมาณ 7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบการได้ต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหนี้ค้างชำระของรถร่วมบริการที่มีกับ ขสมก.ตั้งแต่ปี 2550 ส่วนใหญ่เป็นค่าธรรมเนียม ค่าส่วนแบ่งรายได้ของเที่ยววิ่งอัตราคันละ 10-15 บาทต่อคันต่อวัน ปัจจุบันมีวงเงินค้างชำระกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งกรมการขนส่งทางบกยืนยันว่าการปรับแนวทางออกใบอนุญาตรถร่วมให้มาอยู่ภายใต้กรมฯ จะไม่นำหนี้ดังกล่าวมาด้วย โดยผู้ประกอบการรถร่วมยังคงต้องชำระหนี้ที่มีอยู่เดิมกับ ขสมก.ให้ครบถ้วน เนื่องจากถือเป็นสัญญาตามข้อตกลงเดิมที่รถร่วมบริการมีกับ ขสมก. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ.-สำนักข่าวไทย